คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 651/2479

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะวางอัตราโทษจำเลยตามมาตรา 268 นั้น ถ้าหากข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าความผิดของจำเลยต้องด้วยวรรค 2 – 3 หรือ 4 แห่ง ม.268 แล้ว ก็ต้องลงโทษจำเลยได้แต่เพียงตามอัตราโทษที่วางไว้ในวรรค 1 เท่านั้น จำเลยจับตัวเจ้าทุกข์ไปแล้วขู่ให้ส่งเงินให้จำเลยมีผิดฐานทำให้เสื่อมเสียอิศรภาพ

ย่อยาว

ได้ความว่าจำเลยเอาฝิ่นออกจากกระเป๋าจำเลยแล้วหาว่าเจ้าทุกข์ค้าฝิ่นเถื่อน แลขู่ว่าจะจับตัวเจ้าทุกข์ไป ถ้าไม่อยากจับให้เอาเงินมา ๕๐ บาท แล้วจำเลยนำเจ้าทุกข์ไปยังเรือนผู้ใหญ่บ้านแลขู่เอาเงินจากเจ้าทุกข์อีก เจ้าทุกข์มีความกลัวจึงยอมให้เงินจำเลยไป ๓๕ บาท
ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยใช้วาจาขู่เข็ญให้เจ้าทุกข์ส่งเงินและกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ มีผิดฐานชิงทรัพย์ แต่โจทก์ไม่ได้ร้องขอมา จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลย ๘ เดือนตาม ม.๒๖๘
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยมีผิดฐานทำให้เสื่อมเสียอิศรภาพจริง แต่การลงโทษเบาเกินไป จึงพิพากษาแก้ให้จำคุก จำเลยมีกำหนด ๑ ปี ๖ เดือน
จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยเกินกว่ากำหนดที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๖๘
ศาลฎีกาเห็นว่าตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ปรากฎว่าศาลอุทธรณ์ได้ลงโทษจำเลยตามวรรคใดในมาตรา ๒๖๘ ซึ่งมีการบัญญัติโทษต่างกัน แลตามข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้ง ๒ ฟังมา ก็ไม่ปรากฎว่ามีเหตุอย่างใดอันต้องด้วยบทบัญญัติในวรรค ๒ – ๓ แล ๔ คดีจึงลงโทษจำเลยได้ฉะเพาะวรรค ๑ ของมาตรา ๒๖๘ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินกว่าปีหนึ่ง จึงพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ บังคับคดียืนตามศาลชั้นต้น

Share