คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 902/2472

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตกลงธรรมดาตกลงพิเศษเจ้าหนี้ตาม ม.62 หมายความว่าเจ้าหนี้ที่ได้รับพิศูจน์หนี้แล้ว คำสั่งตกลงหนี้ต้องระวังผลประโยชน์ทั่วไป วิธีพิจารณาแพ่ง ศาลสูงไม่ควรจะสั่งแต่ดุลยพินิจของศาลล่างเพียงใด ในบางเรื่องศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาซึ่งคู่วามไม่สามารถยกขึ้นกล่าว

ย่อยาว

คดีนี้จำเลยถูกตัดสินให้เป็นคนล้มละลาย จำเลยขอตกลงหนี้ร้อยละ ๕๒ เมื่อได้ปฏิบัติตาม ม.๖๒ ข้อ ๑-๒ แล้ว เจ้าพนักงานรายงานศาลเพื่อสั่งเห็นชอบ
ห้างริกันตียื่นพิศูจน์หนี้แล้ว แต่เจ้าพนักงานไม่รับพิศูจน์ กับเจ้าหนี้ผู้อื่น+เป็นโจทก์และนายโมมินซึ่งเจ้าพนักงานรับพิศูจน์หนี้แล้ว ร้องคัดค้านในการตกลงหนี้
และในการขอตกลงหนี้นั้นมีแบงก์สยามเป็นเจ้าหนี้ ๑๒๙๐๐๐ บาทซึ่งเจ้าพนักงานยอมรับพิศูจน์ตกลงเห็นชอบด้วย แต่ภายหลังศาลฎีกาได้ตัดสินในคดีแดงที่ ๖๐๑/๗๒ ว่าแบงก์สยามเป็นเจ้าหนี้ที่พิศูจน์ไม่ได้
ศาลคดีต่างประเทศเห็นว่าห้างริกันตีเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งตาม ม.๖๒ ข้อ ๖ และเห็นว่าทรัพย์ของผู้ล้มละลายอาจเฉลี่ยได้มากกว่าร้อยละ ๕๒ จึงสั่งไม่เห็นชอบด้วย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า “เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใด” ตาม ม.๖๒ ข้อ ๖ นั้นหมายถึงเจ้าหนี้ที่ได้พิศูจน์หนี้ของตนแล้ว ห้างริกันตีจึงไม่มีฐานะในคดี” และคำค้านของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และของนายโมมินมีจำนวนน้อยไม่มีน้ำหนักหักคะแนนของแบงก์สยามได้ และหลักประกันที่จำเลยหามาก็มากกว่าหนี้ที่รับไว้พิศูจน์ จึงสั่งเห็นชอบด้วยกับข้อตกลงหนี้
ห้างริกันตีกับโจทก์และนายโมมินฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ห้างริกันตีนั้นไม่มีฐานะในคดีเพราะไม่ใช่เจ้าหนี้ที่ได้พิศูจน์หนี้ของตนแล้วตาม ม.๖๒ ข้อ ๓ และศาลสูงไม่ควรเปลี่ยนแปลงดุลยพินิจของศาลล่าง เว้นแต่ศาลล่างจะวินิจฉัยผิดจริง และการที่จะสั่งเห็นชอบหรือไม่ต้องระวังประโยชน์ทั่ว ๆ ไป จะถือเสียว่าเจ้าหนี้ที่คัดค้านเป็นส่วนน้อยไม่ได้ และหนี้ของแบงก์สยามศาลฎีกาตัดสินว่า เป็นหนี้ที่พิศูจน์ไม่ได้ดังนี้ เมื่อหักหนี้ของแบงก์ออกแล้ว การตกลงหนี้ตาม ม.๖๒ ข้อ ๑ และ ม.๖ จึงมีจำนวนหนี้น้อยกว่าพวกเจ้าหนี้ที่ไม่เห็นพ้องด้วย จึงเป็นการตกลงว่าไม่ยอมรับตกลงหนี้ในประชุมครั้งแรก เพราะฉนั้นการประชุมครั้งหลังจึงไม่มีจำนวนเงินถึง ๓ ใน ๔ ตาม ม.๖๒ จึงสั่งไม่เห็นชอบด้วย

Share