คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 977/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ไว้กับจำเลย ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยแบบประเภทบุคคลที่สาม ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 เรียกว่า ประกันภัยแบบค้ำจุน คือ ผู้รับประกันภัยตกลงจะใช้เงินค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัย เมื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่อีกบุคคลหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ โดยโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า คนขับรถของโจทก์ขับรถมาเกิดอุบัติเหตุชนกับรถยนต์ของผู้อื่นเสียหายและคนตาย ผู้เสียหายฟ้องให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินจากจำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัย ดังนี้ถือว่าฟ้องของโจทก์ชัดเจนและครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ผู้เอาประกันภัยฟ้องเรียกเงินจากผู้รับประกันภัยแบบค้ำจุน เพื่อจะเอาเงินไปเฉลี่ยให้แก่ผู้เสียหายซึ่งฟ้องเรียกเอาจากผู้เอาประกันภัย นั้น ไม่ใช่เป็นการฟ้องแทนผู้เสียหาย จึงไม่ต้องมีอำนาจฟ้องตามกรมธรรม์ประกันภัยอยู่แล้ว
กรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยที่จะต้องรับผิดต่อบุคคลที่สามอันเกิดขึ้นจากการใช้ยานยนต์ที่ระบุในตารางแห่งกรมธรรม์นี้ ย่อมหมายความว่า การที่ผู้เอาประกันภัยใช้รถยนต์ไปเกิดเหตุขึ้น และผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลที่สามซึ่งรวมถึงความประมาทเลินเล่อของฝ่ายผู้เอาประกันภัยด้วย ดังนี้ ผู้รับประกันภัยย่อมต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลที่สามในนามของผู้เอาประกันภัย ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบกรมธรรม์ประกันภัยมีเงื่อนไขระบุว่า เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นแล้ว คู่กรณีจะได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นแต่กรณีนี้ผู้รับประกันภัยมิได้เสนอตั้งอนุญาโตตุลาการ และยังบอกปัดปฏิเสธความรับผิดโดยสิ้นเชิง ดังนี้ ผู้เอาประกันภัยย่อมนำคดีมาฟ้องศาลโดยไม่ต้องตั้งอนุญาโตตุลาการได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้เอาประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ไว้กับจำเลยแบบประเภทบุคคลที่สาม กล่าวคือ จำเลยจะยอมใช้ค่าทดแทนความเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกหากเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการใช้รถยนต์คันที่เอาประกันภัยได้ภายในวงเงินไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท รถยนต์ของโจทก์คันที่เอาประกันไว้ได้เกิดอุบัติเหตุชนกับรถยนต์ของบริษัทถ้วยทอง และรถยนต์เทศบาลเมืองพนัศนิคม เป็นเหตุให้รถยนต์และคนโดยสารได้รับความเสียหายและคนโดยสารถึงแก่ความตาย โจทก์ถูกผู้เสียหายฟ้องเรียกค่าเสียหาย โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้ จำเลยเพิกเฉยเสีย จึงขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์เพื่อเฉลี่ยใช้ให้แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ และยกข้อต่อสู้หลายประการ ส่วนค่าเสียหาย คู่ความรับกันว่า โจทก์เสียหาย ๔๒,๙๐๐ บาท
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยใช้เงินให้โจทก์ ๔๒,๙๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า ในยกคำขอให้ใช้ดอกเบี้ยเสีย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบบุคคลที่สาม ซึ่งตามความหมาย มาตร ๘๘๗ เรียกว่าประกันภัยค้ำจุน คือ ผู้รับประกันภัยตกลงจะใช้เงินค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัย เมื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่อีกบุคคลหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า คนขับรถของโจทก์ขับรถมาเกิดอุบัติเหตุชนกับรถยนต์ของบริษัทถ้วยทองและรถยนต์เทศบาลเมืองพนัศนิคมเป็นเหตุให้รถยนต์และคนโดยสารได้รับความเสียหาย และถึงแก่ความตาย ๑ คน บัดนี้ ผู้เสียหายฟ้องให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย รวม ๔ ราย เป็นเงิน ๙๒,๗๒๐ บาท โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้วตามหนังสือซึ่งโจทก์คัดสำเนามาท้ายฟ้อง ซึ่งระบุนามผู้ฟ้องและค่าเสียหายแต่ละราย แต่โจทก์เรียกจากจำเลย เพียง ๕๐,๐๐๐ บาท ตามกรมธรรม์ ประกันภัยดังนี้เห็นว่า ฟ้องโจทก์ชัดเจนครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว
ส่วนที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบค้ำจุนเป็นจำนวนเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อเอาไปเฉลี่ยให้แก่ผู้เสียหาย ไม่ใช่เป็นการฟ้องแทนผู้เสียหาย จึงไม่ต้องมีการมอบอำนาจให้ฟ้อง โจทก์มีอำนาจฟ้องอยู่แล้ว ตามสัญญาประกันภัยนั้นเอง
ตามกรมธรรม์ประกันภัย หมวด ๒ ว่าด้วย ความรับผิดชอบบุคคล ที่สามในความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลที่สามอันเกิดขึ้นจากใช้ยานยนต์ที่ระบุในตารางแห่งกรมธรรม์นี้ ข้อความในกรมธรรม์ย่อมหมายความว่า การที่โจทก์ใช้รถยนต์ไปเกิดเหตุขึ้นและโจทก์ต้องรับผิดต่อบุคลที่สาม ย่อมรวมถึงความประมาทเลินเล่อของฝ่ายโจทก์ด้วย และการกระประกันแบบนี้ ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ถ้าจะถือเอาเฉพาะกรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบ ก็ไม่มีทางที่บริษัทจะต้องรับผิดชอบเลย
ในเงื่อนไขเรื่องตั้งอนุญาโตตุลาการตามกรมธรรม์ข้อ ๘ นั้น เป็นเรื่องที่เกิดกรณีพิพาทขึ้นแล้ว คู่กรณีจะได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้น แต่เรื่องนี้จำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายหนึ่งมิได้เสนอตั้งอนุญาโตตุลาการเลย ยังบอกปัดความรับผิดเสียด้วย แม้ภายหลังโจทก์จะได้แจ้งเรื่องมีผู้เรียกร้องค่าเสียหายและจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยทราบ จำเลยก็กลับเพิกเฉยเสียอีก ดังนี้ เท่ากับจำเลยปฏิเสธความรับผิดโดยสิ้นเชิง ไม่ยอมที่จะทำความตกลงประนีประนอมหรือแม้แต่จะตั้งอนุญาโตตุลาการเสียแล้ว โจทก์ย่อมนำคดีมาฟ้องตามกรมธรรม์อันนี้ได้
พิพากษายืน

Share