คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 33/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเช่าโรงเก็บรถนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพยานและสภาพของสถานที่ว่าเช่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยก็ถือว่าเป็นการเช่า “เคหะ” ตามความหมายของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน
แม้สัญญาจะมีถ้อยคำว่า “เช่าโรงรถ”ก็ตาม คู่ความก็ยังนำสืบได้ว่าเมื่อเช่ามาแล้วมิได้ใช้เก็บรถ หากใช้เป็นที่อยู่อาศัยตลอดมาไม่เป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร
การให้เช่า “เคหะ” ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมค่าเช่านั้น ผู้ให้เช่าจะถือเอาเหตุที่สัญญาสิ้นอายุมาฟ้องขับไล่ผู้เช่าไม่ได้ และผู้ให้เช่าจะได้บอกกล่าวเลิกสัญญาหรือไม่ก็ไม่สำคัญ
ในเรื่องเช่า “เคหะ” ข้อสัญญาที่ว่าเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า ผู้เช่ายอมให้ถือว่าผู้เช่ายินยอมออกจากที่เช่าตาม พ.ร.บ. ควบคุมค่าเช่า ฯลฯ นั้นความยินยอมเช่นว่านี้ใช้บังคับไม่ได้ (เทียบฎีกาที่ 1963 – 1965/2494 ฏีกาที่ 769/2494)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาเช่าโรงเก็บรถมีกำหนด ๓ ปี นับแต่ ๑ เมษายน ๒๔๙๒ อัตราค่าเช่าเดือนละ ๒๕๐ บาท บัดนี้สัญญาเช่าสิ้นอายุแล้วและทั้งจำเลยมิได้ใช้เก็บรถอย่างเดียว กลับให้บุคคลอื่นอีกหลายครอบครัวเช่าช่วงโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว จำเลยไม่ยอมออก ขอให้ขับไล่และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่าจำเลยเช่าเพื่ออยู่อาศัยได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ควบคุมค่าเช่าฯ บุคคลที่อยู่ในที่เช่าเป็นบริวารของจำเลย
วันชี้สองสถานโจทก์แถลงไม่ติดใจประเด็นที่หาว่าจำเลยให้เช่าช่วง ศาลแขวงพระนครใต้ได้พิพากษาให้ขับไล่จำเลยกับบริวาร และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโดยเห็นว่าโรงรถที่เช่าได้เปลี่ยนสภาพเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว เป็นเคหะ ตามพ.ร.บ. ควบคุมค่าเช่าฯ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า
๑. ฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวถึงเรื่องเช่ากันมาก่อน กล่าวเฉพาะตอนที่จำเลยเช่าเมื่อ ๑ เมษายน ๒๔๙๒ ประเด็นจำกัดอยู่เฉพาะการเช่านี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพยานจำเลย และสภาพของสถานที่ว่าจำเลยเช่าโรงรถเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย จึงเป็นการเช่า “เคหะ” ตามความหมายของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน
๒.การใช้ถ้อยคำในสัญญาว่า “เช่าโรงรถ” เพราะที่ที่ให้เช่าเคยเป็นโรงรถ และเป็นคำที่ เข้าใจกันดี ระหว่างคู่สัญญานั้น จำเลยย่อมนำสืบได้ว่า เมื่อเช่ามาแล้วมิได้ใช้ในการนั้น หากแต่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยตลอดมาโดยโจทก์มิได้ทักท้วงว่ากล่าว (ตามนัยฎีกาที่ ๑๙๖๓ – ๑๙๖๕ / ๒๔๙๔)
๓.เมื่อได้ฟังว่าเป็นการเช่า “เคหะ” ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมค่าเช่าแล้ว โจทก์ผู้ให้เช่าจะถือเอาเหตุที่สัญญาสิ้นอายุมาฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าไม่ได้ และโจทก์จะได้บอกกล่าวเลิกสัญญาหรือไม่ ไม่สำคัญ
๔. ข้อสัญญาที่ว่า “เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าก็ดี หรือผู้เช่าทำผิดสัญญาตามข้อ ๘ (คือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดก็ดี ผู้เช่ายอมให้ถือว่าผู้เช่ายินยอมออกจากที่เช่าตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน พุทธศักราช ๒๔๘๙ มาตรา ๑๖(๕) ” นั้น มิได้ยกขึ้นว่ากันมาให้ศาลล่าง ทั้งไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบ จึงฎีกาไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี ความยินยอมเช่นว่านี้ได้บังคับไม่ได้ (ตามนัยฎีกาที่ ๗๖๙/๒๔๙๔)
ศาลฎีกาจึงพิพากษายืน ให้ยกฟ้อง

Share