คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 718/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ได้ความว่าเดิมโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกที่ดิน 3 โฉนดจากจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งที่ดินสองโฉนดตามขอ ส่วนที่ดินอีกโฉนดหนึ่งที่โจทก์ขอแบ่งนั้น จำเลยให้การว่าหมายเลขโฉนดมิใช่หมายเลขดั่งที่โจทก์ระบุมาในฟ้อง โจทก์ทราบแล้วมิได้ขอแก้ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยอย่างไร ศาลชั้นต้นจึงไม่พิพากษาให้แบ่งเพราะจะเป็นการเกินคำขอ โจทก์มิได้อุทธรณ์ในข้อนี้ ต่อมาโจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขึ้นอีกขอให้แบ่งที่ดินตามหมายเลขโฉนดที่จำเลยให้การระบุไว้ไม่ตรงกับที่โจทก์ระบุในฟ้องคดีแรกโดยอ้างว่าคดีก่อนโจทก์อ้างเลขโฉนดผิดไปและมิได้ขอแก้ฟ้อง เช่นนี้ถือว่าฟ้องของโจทก์ในคดีเป็นฟ้องซ้ำ เพราะคดีก่อนและคดีนี้คู่ความเป็นคนคนเดียวกัน พิพาทกันเรื่องขอแบ่งมรดกที่ดินแปลงพิพาทนี้แปลงเดียวกันนั่นเอง หากโจทก์ฟ้องอ้างเลขโฉนดผิดไป ศาลชั้นต้นไม่ได้พิพากษาเด็ดขาดในเรื่องการแบ่งไม่ได้ เพราะศาลชั้นต้นพิพากษาไม่แบ่งนั้นเป็นคำพิพากษาแล้วและถ้าไม่เป็นที่พอใจของคู่ความฝ่ายใด ฝ่ายนั้นย่อมอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไปได้ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องอีกตาม ป.วิ.แพ่ง ม.148.

ย่อยาว

ได้ความว่าเดิมโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้ตามคดีแพ่งแดงเลขที่ ๓๖/๒๔๙๖ ของศาลจังหวัดชลบุรี ขอแบ่งมรดกที่ดินโฉนดที่ ๔๙๐๖,๔๙๐๒ และ ๙๒๘๔ รวม ๓ โฉนดอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของนางปุกย่าโจทก์ซึ่งตกทอดมาเป็นของจำเลยที่ ๑ นายพุฒ และนายเพ็ชร์ บิดาโจทก์ แต่นายเพ็ชร์บิดาโจทก์ตายไป โจทก์ผู้เป็นบุตรนายเพ็ชร์ได้รับมรดกแทนที่นายเพ็ชร์ได้ปกครองร่วมกันมากับจำเลยจึงขอแบ่งมรดกที่ดิน ๓ โฉนดนี้ ๑ ใน ๓ ซึ่งเป็นส่วนที่โจทก์ควรได้ ศาลจังหวัดชลบุรีพิพากษาให้แบ่งที่ดินโฉนดที่ ๔๙๐๖,๔๙๐๒ ออกเป็น ๓ ส่วนได้แก่โจทก์ ๑ ส่วน แต่ที่ดินโฉนดที่ ๙๒๘๔ ที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งนั้นจำเลยให้การว่าความจริงเป็นโฉนดที่ ๙๒๘๗ แต่โจทก์มิได้ขอแก้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยอย่างใด ศาลชั้นต้นจึงไม่พิพากษาให้แบ่งเพราะจะเป็นการเกินคำขอ โจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ จำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาเมื่อคดีอยู่ระหว่างฎีกาโจทก์จึงมาฟ้องจำเลยทั้ง ๓ เป็นคดีนี้อีก ขอให้แบ่งที่ดินโฉนดที่ ๙๒๘๗ ที่ดินอยู่ตำบลหมอนนาง อ.พนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ให้แบ่งเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ ๑ ใน ๓ ส่วนอ้างว่าโฉนดที่ ๙๒๘๗ ตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ศาลก็ได้วินิจฉัยไว้ว่าโจทก์จะต้องได้ส่วนแบ่งเหมือนกับอีก ๒ โฉนด เพราะคดีก่อนโจทก์อ้างเลขโฉนดผิดไปและมิได้ขอแก้ฟ้อง โจทก์จึงฟ้องขอแบ่งเป็นคดีนี้อีก
จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินโฉนดที่โจทก์ฟ้องเป็นของจำเลยที่ ๑ โดยนางปุกยกให้จำเลยและจำเลยได้ครอบครองมา กับตัดฟ้องว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีแดงที่ ๓๖/๒๔๙๖ ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง ม.๑๔๘ กับต่อสู้ด้วยว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ จำเลยร้องขอให้ศาลวินิจฉัยขอตัดฟ้องของจำเลยตาม ป.วิ.แพ่ง ม.๒๔
โจทก์แถลงว่าที่ดินแปลงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่เคยฟ้องขอแบ่งจากจำเลย คดีนี้เป็นคนละประเด็นกับคดีก่อน คดีก่อนศาลยังไม่ได้พิพากษาว่าเป็นของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นการฟ้องซ้ำ ให้ยกฟ้องโจทก์ โดยไม่ต้องพิจารณาต่อไป
โจทก์อุทธรณ์ว่าคดีของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าคดีก่อนศาลมิได้พิพากษายกฟ้องสำหรับที่ดินโฉนดที่ ๙๒๘๗ คือที่ พิพาทคดีนี้เพียงแต่ว่าจะบังคับในขณะนี้ไม่ได้ จะถือว่าได้พิพากษาเด็ดขาดแล้วหาได้ไม่ โจทก์จึงฟ้องขอแบ่งที่พิพาทนี้อีกได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ต่อไป
จำเลยฎีกาว่าฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำ อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๘/++++ ประกอบคำบรรยาย
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีนี้แล้วเห็นว่าคดีก่อนและคดีนี้คู่ความเป็นคนเดียวกันพิพาทกันเรื่องขอแบ่งมรดกที่ดินแปลงพิพาทนี้แปลงเดียวกันนั่นเอง หากโจทก์ฟ้องอ้างเลขโฉนดผิดไป ศาลชั้นต้นจึงไม่พิพากษาแบ่งมรดกให้โจทก์เพราะจะเป็นการเกินคำขอของโจทก์ โจทก์พอใจมิได้อุทธรณ์ต่อไปจะว่าศาลไม่ได้พิพากษาเด็ดขาดตามความเห็นของศาลอุทธรณ์ไม่ได้เพราะที่ศาลชั้นต้นไม่พิพากษาให้แบ่งมรดกให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งนั้นเป็นคำพิพากษาแล้ว หาใช่ไม่ใช่คำพิพากษาไม่ เมื่อศาลพิพากษาแล้วไม่เป็นที่พอใจของคู่ความฝ่ายใด ฝ่ายนั้นย่อมอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไปได้แล้วแต่กรณี ศาลนี้เห็นฟ้องของโจทก์เรื่องนี้เป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง ม.๑๔๘ ดังตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้น ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
เหตุนี้จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share