แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์ไม่มีพยานสืบให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ทำเลียนแบบเครื่องหมายการค้า (ฉลากปิดขวดสุราของกรมโรงงานอุตสาหกรรม) ก็ลงโทษจำเลยตาม ม.237 ไม่ได้ แต่ของกลางต้องริบตาม ม.239.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและเรียกร้องขอแก้ฟ้องว่าจำเลยได้บังอาจเลียนแบบอย่างในเครื่องหมายการค้าของโรงงานสุรากรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งได้จดทะเบียนตาม ก.ม.แล้ว เหตุเกิดตำบลคลองมหานาค จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.อาญา ม.๒๓๗ และสั่งริบของกลาง
จำเลยต่อสู้ว่ามิได้เจตนาบังอาจกระทำผิดฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นฟังว่าฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมแต่โจทก์ไม่มีพยานสืบแสดงว่าจำเลยเป็นผู้ทำเลียนแบบ รูปคดียังลงโทษจำเลยไม่ได้ พิพากษาว่าจำเลยยังไม่มีความผิด ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ให้ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ส่วนข้อที่จำเลยว่าสุราของกลางไม่ควรริบนั้น เห็นว่าเมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าฉลากของกลางประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเลียนแบบฉลากของโรงงานสุราบางยี่ขันของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้ผู้ซื้อหลงว่าสุรา ๒๘ ดีกรีของโรงงานสุราอุทัยธานีเป็นสุราของโรงงานบางยี่ขันของกรมโรงงานอุตสาหกรรม นั้นตาม ก.ม.อาญา ม.๒๓๙ ก็บัญญัติไว้ให้ริบจงสิ้น
พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์. ยกฎีกาจำเลย.