แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัทโจทก์ได้จดทะเบียนถูกต้องตาม ก.ม.ในประเทศอังกฤษและมีสำนักงานอยู่ในประเทศอังกฤษ บริษัทโจทก์จะเป็นนิติบุคคลตาม ก.ม.ไทยหรือไม่ โจทก์ก็ขึ้นศาลเพื่อเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลยในศาลไทยได้ตามความในข้อ 20 แห่งหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงอังกฤษ ลงวันที่ 14 ก.ค.68 และข้อ 4 – 5 (2) ของสนธิสัญญาการพานิชย์และการเดินเรือระหว่างไทยกับอังกฤษ ลงวันที่ 23 พ.ย.80.
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องและยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า คำว่า คัสสัน โคโรเนชั่นกับรุปราชรถเทียมม้า ๔ ขับผ่านโบสถ์ ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ ๒๑๑๔๓ ซึ่งจะจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าได้จำเลยไม่มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๑๗๕๓๘ และสั่งให้เพิกถอนหรือให้จำเลยถอนคำขอนั้นเสีย ให้จำเลยให้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๒๕๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ไม่รับรองว่าบริษัทโจทก์เป็นนิติบุคคลและจำหน่ายสินค้าดังฟ้อง พระยาอรรถกรมมณิตตีไม่มีอำนาจฟ้อง และว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ฟ้องเป็นของจำเลยประดิษฐ์ขึ้น กับต่อสู้ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อ ก.ม.อีกหลายประการกับตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ส่วนค่าเสียหายโจทก์ไม่มีอำนาจเรียก
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม พระยาอรรถกรมมณิตตมีอำนาจฟ้อง พิพากษาว่าโจทก์มีความชอบธรรมที่จะใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทนี้โดยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตมมคำขอจดทะเบียนเลขที่ ๒๑๑๔๓ ดีกว่าจำเลย ส่วนที่เรียกค่าเสียหายจากจำเลย โจทก์เรียกจากจำเลยไม่ได้เพราะเป็นค่าใช้จ่ายธรรมดาที่จะต้องใช้เพื่อความระวังรักษาสิทธิหรือผลประโยชน์ของโจทก์เองจึงให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกอุทธรณ์จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ในประเด็นที่จำเลยโต้เถียงว่าบริษัทโจทก์ไม่ได้เป็นนิติบุคคลไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องศาลนั้นเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นบริษัทที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายในประเทศอังกฤษและมีสำนักงานอยู่ในประเทศอังกฤษจริง โจทก์จะเป็นนิติบุคคลตาม ก.ม.ไทยหรือไม่ โจทก์ขึ้นศาลเพื่อเป็นโจทก์หรือจำเลยในศาลไทยได้ตามความในข้ออ ๒๐ แห่งหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงอังกฤษ ลงวันที่ ๑๔ ก.ค. ๖๘ และข้อ ๔ – ๕ (๒) ของสนธิสัญญาการพานิชย์และการเดินเรือระหว่างไทยกับอังกฤษ ลงวันที่ ๒๓ พ.ย.๘๐ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงตกไป
ส่วนประเด็นข้อที่ว่าใครจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่ากันเห็นว่าโจทก์มีความชอลธรรมที่จะใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทนี้ดีกว่าจำเลย การที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ไว้ก่อนโจทก์ตั้ง ๒ ปี ฝ่ายโจทก์ยื่นคำขอคัดค้านไทยในกำหนด ๓ เดือนตาม ก.ม.แล้ว จำเลยจึงยังไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียน ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย.