คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3366/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกัน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกัน การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69 นั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และมีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ทั้งศาลอุทธรณ์มิได้แก้โทษจำเลยโดยกำหนดโทษใหม่ตามความผิดที่ถูกต้องหรือลงโทษจำเลยเกินกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2542 เวลากลางวัน จำเลยได้ใช้มีดดาบยาวประมาณ 1 เมตร เป็นอาวุธฟันประทุษร้ายนายวิริยะ หงษ์วารีวัธน์ ผู้เสียหาย หลายครั้ง ถูกบริเวณลำตัวและแขนขวา ทำให้กระดูกแขนขวาหัก 2 ท่อน และคมมีดบาดลึกถึงกล้ามเนื้อหลังมือฉีกขาด เส้นประสาทข้อมือขวาฉีกขาด เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน และประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบด้วยมาตรา 68, 69 (ที่ถูกประกอบด้วยมาตรา 69) ให้จำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันโดยชอบนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบด้วยมาตรา 69 จำคุก 6 เดือน จำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายพอสมควรแก่เหตุ ส่วนโจทก์มิได้อุทธรณ์ข้อที่ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกัน ดังนั้น ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันหรือไม่จึงเป็นอันยุติไปแล้ว ในชั้นอุทธรณ์มีเพียงประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุหรือไม่เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันโดยชอบจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่มิได้ขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้องอันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 215 นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายพอสมควรแก่เหตุ เช่นนี้ แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกัน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกัน การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 นั้น เป็นการไม่ชอบ แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย และมีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ทั้งศาลอุทธรณ์มิได้แก้โทษจำเลยโดยกำหนดโทษใหม่ตามความผิดที่ถูกต้องหรือลงโทษจำเลยเกินกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share