แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ในสัญญาเช่าลงว่าเช่าตึกพิพาทเพื่อค้าขายยา ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิในอันที่จะนำสืบถึงพฤติการณ์ตามความจริงว่าเช่าเพื่อทำการค้าหรือเพื่ออยู่อาศัย อันจะนำไปสู่ประเด็นข้อวินิจฉันว่าเป็น “เคหะ” หรือไม่
จำเลยเช่าตึกพิพาทของโจทก์และใช้ตึกพิพาทอยู่อาศัยเพื่อทำการค้าขายยาในตึกของพระคลังฯซึ่งอยู่ติดต่อกัน เช่นนี้ จะถือว่าจำเลยเช่าตึกพิพาทเพื่อทำการค้าเพราะเหตุว่าอยู่อาศัยเพื่อทำการค้าหาได้ไม่ มิฉะนั้นแล้วการที่ผู้ใดเช่าตึกอยู่แห่งหนึ่ง แล้วไปทำการค้าอีกแห่งหนึ่ง ก็จะเป็นการเช่าเพื่อทำการค้าไปหมด
การที่ต่อมาภายหลังจำเลยได้เปิดร้านดัดผมในห้องพิพาทชั้นล่างเฉพาะซีกคูหาเดียวและไม่สุดตลอดคูหาด้วย คือใช้เนื้อที่เพียง 1 ใน 4 ของตึกชั้นล่าง และในการนี้จำเลยก็ได้ขออนุญาตจากโจทก์แล้วว่าเพื่อช่วยค่าครองชีพทางหนึ่ง กับได้ขอให้โจทก์แยกใบเสร็จค่าเช่าห้องพิพาทเดือนละ 100 บาท เป็น 40 บาท ฉบับหนึ่ง คือ สำหรับค่าเช่าตรงที่เป็นร้านดัดผม และ 60 บาทอีกฉบับหนึ่ง เหตุที่แยกดังนี้เนื่องจากการตั้งร้านดัดผมจำเลยเข้าหุ้นกับคนอื่น ทั้งนี้เพื่อสดวกแก่การคิดเงิน ระหว่างหุ้นส่วนตามพฤติการณ์ดังกล่าวนี้ จะฟังว่าจำเลยเช่าตึกพิพาทเพื่อการค้ายังไม่ได้ ต้องถือว่าตึกพิพาทเป็น “เคหะ” อันได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขับไล่จ.ล.และบริวารออกจากตึกของโจทก์และเรียกค่าเสียหาย โดยอ้างว่าจ.ล.เช่าเพื่อทำการค้าและสัญญาเช่าสิ้นอายุแล้ว
จำเลยต่อสู้ว่าเช่าเพื่ออยู่อาศัยได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ
ศต.พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศอ.พิพากษากลับ ให้ขับไล่จ.ล.และบริวารและให้ใช้ค่าเสียหาย
จ.ล.ฎีกา
ศฎ.พิจารณาแล้วประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณามีว่า การที่จำเลยเช่าตึกพิพาทของโจทก์รายนี้ จะถือว่าตึกนั้นเป็น “เคหะ” อันจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ควบคุมค่าเช่าฯหรือไม่ จริงอยู่ในสัญญาเช่าตึกพิพาทลงว่า เช่าเพื่อค้าขายยา แต่ทั้งนี้ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิในอันที่จะนำสืบถึงพฤติการณ์ตามความจริงว่า เช่าเพื่อทำการค้าหรือเพื่ออยู่อาศัย อันจะนำไปสู่ประเด็นข้อวินิจฉัยว่าเป็น “เคหะ” หรือไม่
ถึงหากจะฟังว่า ฝ่ายจำเลยใช้ตึกพิพาทอยู่อาศัยเพื่อทำการค้าขายยาในตึกของพระคลังฯก็ตาม จะให้ถือว่าจ.ล.เช่าตึกพิพาทเพื่อทำการค้าเพราะเหตุว่าอยู่อาศัยเพื่อทำการค้าหาได้ไม่ มิฉะนั้นแล้วการที่ผู้ใดเช่าตึกอยู่แห่งหนึ่งแล้วไปทำการค้าอีกแห่งหนึ่ง ก็จะเป็นการเช่าเพื่อทำการค้าไปหมด
ส่วนการที่ต่อมาจ.ล.ได้เปิดร้านตัดผมในห้องพิพาทนั้นได้ความว่าจ.ล.เปิดร้านตัดผมที่ห้องชั้นล่างเฉพาะซีกคูหาเดียวและไม่สุดตลอดคูหาด้วย คือใช้เนื้อที่เพียง ๑ ใน ๔ ของตึกชั้นล่าง และในการนี้จ.ล.ก็ได้ขออนุญาตจากโจทก์แล้วว่าเพื่อช่วยค่าครองชีพทางหนึ่ง กับได้ขอให้โจทก์แยกใบเสร็จค่าเช่าห้องพิพาท ๑๐๐ บาทต่อเดือน เป็น ๔๐ บาทฉบับหนึ่ง คือสำหรับค่าเช่าตรงที่เป็นร้านตัดผม และ ๖๐ บาทอีกฉบับหนึ่ง เหตุที่แยกดังนี้ ก็เนื่องจากการตั้งร้านตัดผมจ.ล.เข้าหุ้นกับนางสาวมาลี ทั้งนี้เพื่อสดวกแก่การคิดแบ่งเงินระหว่างหุ้นส่วน ตามพฤติการณ์ดังกล่าว จะให้ฟังว่าจ.ล.เช่าตึกพิพาทเพื่อการค้ายังไม่ได้ ต้องถึอว่าตึกพิพาทเป็น “เคหะ” อันได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ โจทก์จะฟ้องขับไล่ไม่ได้
ศฏ.พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์