คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อได้ความตามหลักฐานพยานโจทก์ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจ พ.ศ. 2496 ได้ประกาศในราชกิจจาฯ กำหนดหน่วยงานเขตอำนาจการรับผิดชอบและเขตพื้นที่การปกครองว่าให้กองปราบปรามกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีเขตอำนาจการรับผิดชอบและเขตพื้นที่การปกครองในการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.วิ. อ. และบทกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดคดีอาญาทั้งหลายทั่วราชอาณาจักรแล้ว เช่นนี้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม กองบัญชาการตำตรวจสอบสวนกลางก็ย่อมมีอำนาจทำการสอบสวนคดีความผิดที่เกิดในอำเภอบ้านตาก จังหวัดตากได้
พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจ พ.ศ. 2498 ที่ออกมาใหม่ มีข้อความในมาตรา 5 เช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ. 2496 คือ มีบทบัญญัติว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้กำหนดหน่วยงานและเขตอำนาจการรับผิดชอบ หรือเขตพื้นที่การปกครองของหน่วยราชการตามความใน มาตรา 4 โดยประกาศในราชกิจจา ฯ เช่นนี้ อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในอันที่จะประกาศข้อบังคับทั้งหลายอันว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของพนักงานตำรวจนั้น หาได้ถูกยกเลิกไปอย่างไรไม่ ประกาศที่มีมาแต่เดิมโดยอาศัยอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายเดิม (พระราชกฤษฎีกา ฯ ฉบับ พ.ศ. 2496) ก็คงใช้ได้ต่อไป ไม่จำต้องมีประกาศใหม่ทับซ้ำโดยอาศัยอำนาจกฎหมายใหม่อย่างไรอีก หน่วยงานที่ตั้งมาแต่เดิมตลอดจนเขตอำนาจที่มีอยู่ ก็ต้องคงอยู่ตลอดมา จนกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะอาศัยอำนาจตามกฎหมายประกาศเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนเป็นอย่างอื่น
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2502)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๙๘ เวลากลางคืน จำเลยกับพวกอีกหลายคนสมคบกันฆ่านายเศียร, นายใหม่ ตายโดยเจตนา ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๔๙, ๖๓ และขอให้ริบลูกปืนของกลาง
จำเลยทุกคนปฏิเสธว่า ไม่ได้ทำผิดและต่อสู้ว่า พนักงานสอบสวนกองปราบปราบกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ เมื่อการสอบสวนไม่ถูกต้อง ถือว่ามิได้มีการสอบสวน โจทก์นำคดีมาฟ้องไม่ได้
ศาลอาญาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พนักงานสอบสวนกองปราบปรามกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีอำนาจสอบสวนเรื่องนี้ และฟังว่าจำเลยที่ ๑ – ๒ – ๓ – ๕ และ ๖ สมคบกันฆ่านายเศียรนายใหม่ตายจริงดังฟ้อง พิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ – ๒ – ๓ – ๕ และ ๖ มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา๒๔๙, ๖๓ ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ตลอดชีวิต จำคุกจำเลยที่ ๒ – ๓ และ ๕ คนละ ๒๐ ปี จำคุกจำเลยที่ ๖ มีกำหนด ๑๕ ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๓ – ๕ มีประโยชน์แก่การพิจารณา ลดตาม มาตรา ๕๙ แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ ๓ และ ๕ คนละ ๑๕ ปี ส่วนจำเลยที่ ๔ ทางพิจารณาไม่ได้ความว่าได้กระทำผิดตามฟ้อง ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๔ ริบลูกปืนลูกกรดของกลาง
จำเลยที่ ๑ – ๒ – ๓ – ๕ และที่ ๖ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาข้อตัดฟ้องของจำเลยที่ว่า เหตุเกิดที่ตำบลแม่สลิด อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก และจำเลยถูกจับที่จังหวัดตาก พนักงานสอบสวนกองปราบปรามกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางไม่มีอำนาจสอบสวน โจทก์นำคดีมาฟ้องไม่ได้นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า กองปราบปรามกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีอำนาจสอบสวนได้ แม้ต่อมาระหว่างที่การสอบสวนคดีนี้ยังไม่เสร็จ จะได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๙๘ ประกาศใช้และยกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบีบบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยให้ใช้ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๘ แทนก็ตาม เพราะตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๘ ก็ยังกำหนดให้กองปราบปรามกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางคงมีเขตอำนาจการรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ป.วิ.อ. และตามบทกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดอาญาทั้งหลายทั่วราชอาณาจักร ดังที่กำหนดไว้เดิม ซึ่งประกาศในราชกิจจาฯ ลงวันที่ ๒๓ ส.ค. ๒๔๙๘ เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า อำนาจของกองปราบปรามของบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีอำนาจสอบสวนทั่วราชอาณาจักรดังที่ประกาศไว้ติดต่อกันไม่ขาดระยะ จำเลยก็มิได้นำสืบว่าพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจและทำการสอบสวนโดยมิชอบอย่างไร ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่า
พนักงานสอบสวนกองปราบปรามกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้โดยชอบไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘ ดังจำเลยกล่าว โจทก์นำคดีมาฟ้องได้
ส่วนในข้อเท็จจริงนั้น ศาลอุทธรณ์เชื่อว่า จำเลยที่ ๑ ทำผิดจริงดังฟ้อง แต่สำหรับจำเลยที่ ๒ – ๓ – ๕ และ ๖ พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังลงโทษดังข้อหา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ศาลชั้นต้นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ – ๓ – ๕ และ ๖ นอกจากที่แก้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
อัยการโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ – ๓ – ๕ และ ๖ ดังคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ ๑ ฎีกาขอให้พิพากษาปล่อย
สำหรับประเด็นที่จำเลยโต้แย้งว่า พนักงานสอบสวนกองปราบปรามกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ไม่มีอำนาจทำการสอบสวนคดีนี้ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่า ป.วิ.อ. มาตรา ๑๖ บัญญัติให้อำนาจพนักงานตำรวจในการที่จะปฏิบัติตามประมวลกฎหมายนั้นไว้ว่า ต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับทั้งหลายอันว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ ของพนักงานตำรวจนั้น ๆ ในกรณีนี้ ได้ความตามหลักฐานพยานโจทก์ว่า ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๕ ว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำหนดหน่วยงานและเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองของหน่วยราชการตามความใน มาตรา ๔ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่กล่าวนี้กำหนดหน่วยงาน เขตอำนาจการรับผิดชอบและเขตพื้นที่การปกครองโดยประกาศในราชกิจจาฯ ฉบับลงวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๔๙๖ ว่า ให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางและกองปราบปรามมีเขตอำนาจการรับผิดชอบและเขตพื้นที่การปกครองในการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.วิ.อ. และตามบทกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดคดีอาญาทั้งหลายทั่วราชอาณาจักร ดังนี้ ศาลฎีกาจึงเห็นชอบด้วยคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ในข้อที่ว่า คดีเรื่องนี้ได้มีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาขึ้นมาเป็นทำนองว่า ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๙๘ ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจ พ.ศ. ๒๔๙๖ นั้นเสียแล้ว ประกาศกระทรวงมหาดไทย ที่ออกโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกาฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๖ ต้องถือว่าได้ถูกยกเลิกไปด้วยนั้นที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่ออกมาแทนใหม่นั้น มีความใน มาตรา ๕ เช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ. ๒๔๙๖ คือ มีบทบัญญัติว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำหนดหน่วยงานและเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองของหน่วยราชการตามความใน มาตรา ๔ โดยประกาศในราชกิจจาฯ จึงเห็นได้ชัดว่า อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในอันที่จะประกาศข้อบังคับทั้งหลายอันว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของพนักงานตำรวจนั้น หาได้ถูกยกเลิกไปอย่างไรไม่ ประกาศที่มีมาแต่เดิมโดยอาศัยอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมาย เดิมก็คงใช้ได้ต่อไป ไม่จำต้องมีประกาศใหม่ ทับซ้ำโดยอาศัยอำนาจกฎหมายใหม่อย่างไรอีก
หน่วยงานที่ตั้งมาแต่เดิมตลอดจนเขตอำนาจที่มีอยู่ก็ต้องคงอยู่ตลอดมาจนกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะอาศัยอำนาจตามกฎหมายประกาศเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนเป็นอย่างอื่น
สำหรับข้อเท็จจริง ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษายืน

Share