คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นพ่อค้าเครื่องยนต์เพื่ออุตสาหกรรมตัวแทนของจำเลยได้ตกลงจะชำระหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์เช่นว่านั้นให้โจทก์ภายในวันที่ 24 ก.ค. 2493 เมื่อถึงกำหนด ไม่มีการชำระหนี้ เช่นนี้ ต้องถือว่า จำเลยซึ่งเป็นตัวการผิดนัดด้วย โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยได้ตั้งแต่วันผิดนัด คือวันที่ 24 ก.ค. 2493 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่นั้นมา โจทก์มายื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2499 เกิน 5 ปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ
ป.พ.พ. มาตรา 165 (1) และ มาตรา 165 วรรค 2 เกี่ยวกับการนับอายุความ ให้เริ่มนับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึง วันรู้ (คือ วันที่โจทก์รู้ว่าจำเลยเป็นตัวการ) จะนำมาสงเคราะห์เทียบเคียงกันไม่ได้กับ ป.พ.พ. มาตรา 448 เรื่องละเมิด ซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
สิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นโดยตัวแทนของจำเลยไปซื้อเครื่องยนต์ จากโจทก์และตัวแทนของจำเลยตกลงจะชำระหนี้ให้ ต่อมาไม่มีการชำระหนี้เมื่อเกิดผิดนัดขึ้นเมื่อใด ก็เกิดสิทธิเรียกร้องที่โจทก์อาจบังคับแก่จำเลยได้ตั้งแต่นั้นมา มิใช่ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเพิ่งมาตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาคดีระหว่างโจทก์กับตัวแทนของจำเลยในเรื่องหนี้สินรายเดียวกันนี้

ย่อยาว

ได้ความว่า โจทก์เป็นพ่อค้าฟ้องเรียกเอาค่าเครื่องยนต์ที่ส่งมอบไปเพื่ออุตสาหกรรมของจำเลย โดยนายเช็งโหมวตัวแทนของจำเลยไปตกลงจะชำระหนี้ให้แก่ โจทก์ภายในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๙๓ เมื่อถึงกำหนด ไม่มีการชำระหนี้ โจทก์จึงมายื่นฟ้อง จำเลยเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๙๙ จำเลยต่อสู้ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความด้วย
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลทั้งสองว่า คดีโจทก์ขาดอายุความให้ยกฟ้องโจทก์
ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า เรื่องนี้นายเช็งโหมว ตัวแทนของจำเลยไปตกลงจะชำระหนี้ให้โจทก์ภายในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๙๓ เมื่อถึงกำหนด ไม่มีการชำระหนี้ ก็ต้องถือว่า จำเลยซึ่งเป็นตัวการผิดนัด และโจทก์อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยได้ตั้งแต่วันผิดนัด คือ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๙๓ อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่นั้นมา โจทก์ยื่นฟ้องจำเลย เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๙๙ ซึ่งล่วงเลยเวลามา ๖ ปีเศษ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๕(๑) และมาตรา ๑๖๕ วรรค ๒ ซึ่งบัญญัติว่าสิทธิเรียกร้องนี้มีอายุความ ๕ ปี ที่โจทก์โต้แย้งว่า ต้องนับแต่วันโจทก์รู้ว่าจำเลยเป็นตัวการนั้น บทกฎหมายดังกล่าวมาแล้ว เรื่องการนับอายุความไม่ได้กล่าวถึงวันรู้ แต่ให้เริ่มนับแต่วันที่อาจจะ บังคับสิทธิเรียกร้องได้เท่านั้น ในฎีกาโจทก์ที่กล่าวถึงอายุความในเรื่องละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๘ ซึ่งมีกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน พอเทียบเคียงกันได้กับคดีนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องละเมิดก็มีอายุความ ๑๐ ปี เป็นแต่ถ้าผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว อายุความที่จะฟ้องสั้นลง คือ ต้องฟ้องเสียใน ๑ ปี นับแต่รู้
เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้คนละอย่าง จะเอามาสงเคราะห์เทียบเคียงให้เป็นทำนองเดียวกันมิได้
ส่วนตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาชั้นที่สุดของศาลในคดีที่โจทก์ฟ้องนายเช็งโหมว จึงย่อมมีอายุความ ๑๐ ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๘ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องนี้สิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นโดยตัวแทนของจำเลย ไปซื้อเครื่องยนต์จากโจทก์และตัวแทนของจำเลยตกลงจะชำระหนี้ให้ต่อมาไม่มีการชำระหนี้ เมื่อเกิดผิดนัดขึ้นเมื่อใด ก็เกิดสิทธิเรียกร้องที่โจทก์อาจจะบังคับแก่จำเลย (ซึ่งเป็นตัวการ) ได้ตั้งแต่นั้นมา มิใช่ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเพิ่งมาตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาคดีระหว่างโจทก์กับนายเช็งโหมว (ตัวแทนของจำเลย)

Share