แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ถึงบาดเจ็บ แต่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับจำเลยโดยไม่มีอำนาจทำได้ เพราะบาดแผลของโจทก์ถึงบาดเจ็บ จำเลยต่อสู้ว่า บาดแผลของโจทก์ไม่ถึงบาดเจ็บ พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปแล้ว ดังนี้ ประเด็นเรื่องการสอบสวนจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อยู่ที่บาดแผลของโจทก์ถึงบาดเจ็บหรือไม่ ถ้าบาดแผลของโจทก์ถึงบาดเจ็บเป็นความผิดตามมาตรา 254 พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจเปรียบเทียบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า บาดแผลของโจทก์ไม่ถึงบาดเจ็บ การเปรียบเทียบชอบด้วยกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์กลับไปวินิจฉัยว่า ผู้เสียหายและผู้ต้องหาไม่ได้ให้ความยินยอมในการเปรียบเทียบ ๆ จึงใช้ไม่ได้ ดังนี้ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันทำร้ายร่างกายโจทก์บาดเจ็บ พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับจำเลยคนละ ๓๐ บาทก่อนที่จะได้รับใบชันสูตรบาดแผล โจทก์ถือว่าการเปรียบเทียบปรับไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๕๔, ๖๓
จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้ว่าสิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ได้ระงับไปแล้ว บาดแผลของโจทก์ไม่ถึงบาดเจ็บ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าบาดแผลของโจทก์ไม่ถึงบาดเจ็บ พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ ๑ – ๒ ชอบแล้ว คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๑ – ๒ ระงับไป ส่วนจำเลยที่ ๓ หลักฐานไม่พอลงโทษ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดียังฟังไม่ได้ว่าการเปรียบเทียบปรับนั้น ประกอบด้วยความยินยอมของผู้ต้องหาและผู้เสียหายสิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับพิพากษายกคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้วินิจฉัยข้อเท็จจริงสำหรับจำเลยที่ ๑ – ๒ ต่อไป
จำเลยที่ ๑ – ๒ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าประเด็นเรื่องการเปรียบเทียบของพนักงานสอบสวนใช้ได้หรือไม่ อยู่ที่บาดแผลของโจทก์ถึงบาดเจ็บหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ไม่ยกเรื่องที่ว่าโจทก์จำเลยไม่ยินยอม การเปรียบเทียบจึงไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่ข้อโต้เถียงกันในคดี ยังหาได้วินิจฉัยถึงเรื่องบาดแผลของโจทก์ว่า ถึงบาดเจ็บหรือไม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ในประเด็นเรื่องบาดแผลของโจทก์ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี