แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกัน แล้วโจทก์( ภริยา ) ได้โอนกรรมสิทธิที่ดินของตนให้จำเลย( สามี ) แล้วทำหนังสือสละทรัพย์สินส่วนของตนให้แก่จำเลยโดยระบุไว้แจ้งชัดว่าสละให้เพราะจะไปอยู่กินกับชายชู้ แล้วโจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนหย่าขาดกันโดยโจทก์ได้แสดงเจตนาเมื่อจดทะเบียนหย่ายืนยันสละสิทธิของโจทก์ในทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา โดยกล่าวว่าไม่มีอะไรจะแบ่งกันแล้วดังนี้ ย่อมฟังได้ว่าการหย่าและแบ่งทรัพย์ระหว่างโจทก์จำเลยได้เสร็จเด็ดขาดไปแล้ว โจทก์จะกลับรื้อฟื้นฟ้องร้อว่ายังไม่ได้แบ่งทรัพย์กันนั้นไม่ได้
ย่อยาว
คดีได้ความว่า โจทก์จำเลยได้เสียเป็นผัวเมียกันมาแล้ว ๘ ปีจึงจดทะเบียนกันเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๔๙๔ ก่อนจดทะเบียนสมรสต่างมีทรัพย์สินด้วยกัน
เมื่อจดทะเบียนสมรสกันแล้โจทก์ก็ได้โอนกรรมสิทธิในที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งหมดให้จำเลย แล้วโจทก์ได้ทำหนังสือสละทรัพย์สินของโจทก์ให้แก่จำเลยทั้งสิ้น โดยกล่าวไว้ในหนังสือนั้น ใจความว่าโจทก์จะไปอยู่กินกับจำเลยอีกต่อไป รุ่งขึ้นโจทก์จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากเป็นสามีภริยากัน และให้ถ้อยคำตามที่นายทะเบียนบันทึกไว้ด้านหลังว่า ” ระหว่างที่อยู่ร่วมกันไม่มีบุตรอย่างใด ” ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ขอแบ่งทรัพย์ ๔ อันดับครึ่งหนึ่งโดยอ้างว่าทรัพย์ทั้งนั้นเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยและว่าต่างฝ่ายต่างมีสินเดิม
จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ได้สละทรัพย์ตามฟ้องให้จำเลยแล้ว ซึ่งเป็นการตอบแทนที่จำเลยไม่ฟ้องโจทก์เป็นชู้กับนายแก้ว
ศาลเชียงใหม่สอบถามเห็นว่าโจทก์จำเลยรับกันไม่มีประเด็นจะต้องสืบต่อไป สั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยให้ทรัพย์ตามบัญชีอันดับ ๑,๒, เฉพาะที่ส่วนของโจทก์ยกให้จำเลยกับทรัพย์อันดับ ๔ ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง โดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่านิติกรรมทั้ง ๒ ฉบับนี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโดยสมบูรณ์บังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งทรัพย์อันดับ ๑,๒, และ ๔ จากจำเลย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ผู้พิพากษานายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า จะวิเคราะห์เอกสารลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๔๙๕ ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อเป็นสัญญาที่สามีภิริยาได้ทำให้ไว้ต่อกันในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่ ภริยาก็ย่อมจะบอกล้างเสียได้ใน ๑ ปี นับแต่วัขาดจากสามีภริยากัน บันทึกด้านหลังทะเบียนลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๙๕ เป็นการกระทำของนายทะเบียนสมรสซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะสงเคราะห์ให้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่ และโจทก์ยังมีสิทธิบอกล้างอยู่จึงเห็นควรพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าที่โจทก์ได้แสดงเจตนาเมื่อจดทะเบียนหย่ายืนยันสละสิทธิ ของโจทก์ในทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาโดยกล่าวว่าไม่มีอะไรจะแบ่งกันแล้วดังนี้ ย่อมฟังได้ว่าการหย่าและแบ่งทรัพย์ระหว่างโจทก์จำเลยได้เสร็จเด็ดขาดไปแล้ว โจทก์จะกลับรื้อฟื้นร้องในทางที่ว่ายังไม่ได้แบ่งทรัพย์กันนั้นฟ้องร้องไม่ขึ้น
พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์