แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยว่าทำร้ายเจ้าพนักงานและฆ่าคนตายโดยเจตนาฟ้องก่อน พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2496 ออกใช้บังคับ
ศาลมณฑลทหารบกที่ 7 ยกฟ้องโดยเห็นว่าข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาต่างกับฟ้อง(ฟ้องว่าเหตุเกิดเวลากลางวัน ทางพิจารณาได้ความว่าเวลากลางคืน) ศาลทหารกลางเห็นว่าข้อต่อสู้และการนำสือของจำเลยแสดงได้ชัดว่าจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ซึ่งตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2496 มาตรา 100 มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญอันจะเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง พิพากษายกคำพิพากษาศาลทหารบกที่ 7 ให้พิจารณาพิพากษาใหม่
ดังนี้แม้จำเลยจะมิได้ค้านคำพิพากษาของศาลทหารกลางแต่อย่างใดในชั้นนั้น เมื่อศาลมณฑลทหารบกที่ 7 พิจารณาใหม่แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยและศาลทหารกลางพิพากษายืนดังนี้ จำเลยจะคัดค้านขึ้นมาในชั้นฎีกาว่าข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาต่างกับฟ้องก็ได้เ เพราะปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเมื่อศาลทหารกลางพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลมณฑลทหารบกที่ 7 ให้พิจารณาพิพากษาใหม่นั้น คดีก็ยังไม่ถึงที่สุดคู่ความหรือศาลย่อมยกขึ้นกล่าวอ้าง+
พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2496 มาตรา 100ใช้บังคับแก่ฟ้องที่ไม่ถูกต้องซึ่งเกิดขึ้นภายหลังวันใช้บังคับเท่านั้นจะนำเอากฎหมายที่ออกใช้ภายหลังมาลงโทษจำเลยไม่ได้ และกฎหมายใหม่ในกรณีเช่นนี้หาอาจไปแก้ไขฟ้องที่ไม่ถูกต้องให้เป็นการถูกต้องขึ้นได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นทหารกองประจำการสังกัดเรือนจำมณฑลทหารบกที่ ๗ ได้ใช้มีดซุยแทง ส.ต.ต.อนันต์เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่และแทงพลตำรวจภูธรสุทัศน์ตายโดยเจตนา ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๒๐,๒๔๙,๒๕๐,๒๕๔,๗๐,และ ๗๑
จำเลยต่อสู้ว่า ส.ต.ต.อนันต์แลพลสุทัศน์และพวกกลุ้มรุมทำร้ายจำเลย ๆ จึงแทงเพื่อป้องกันตัว
ศาลมณฑลทหารบกที่ ๗ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดวันที่ ๑๐ พ.ย. ๒๔๙๔ เวลากลางวัน ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำผิดเวลากลางคืนประมาณ ๒๒.๐๐ น.หรือ ๒๓.๐๐ น.ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจึงต่างกับฟ้อง พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ โดยไม่จำต้องชี้ขาดข้อเท็จจริงต่อไป
โจทก์อุทธรณ์
ศาลทหารกลางเห็นว่า ตามข้อต่อสู้และการนำสืบของจำเลยแสดงได้ชัดว่าจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ซึ่งตามมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร(ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๖ มิให้คือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญอันจะเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้ พิพากษายกคำพิพากษาศาลมณฑลทหารบกที่ ๗ ให้พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่
ศาลมณฑลทหารบกที่ ๗ พิจารณาใหม่และวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดจริงดังฟ้อง พิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๒๐ วรรค ๒ กะทงหนึ่ง ๒ ปี และตามมาตรา ๒๔๙ อีกกะทงหนึ่ง ๑๖ ปี รวม ๒ กะทง เป็น ๑๘ ปี ปราณีตามมาตรา ๕๕ เสีย ๑ ใน ๔ คงจำ ๑๓ ปี ๖ เดือน มีดของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและคัดค้านในข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในทางพิจารณาต่างกับข้อเท็จจริงในฟ้อง ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลทหารกลางวินิจฉัย ประเด็นข้อนี้ (ข้อกฎหมาย) ศาลทหารกลางได้พิพากษาไว้แล้ว(ตามคำพิพากษาคดีแดงที่ ๔๗ / ๒๔๙๖ )ว่าไม่เป็นเหตุให้ศาลเดิมยกฟ้องจำเลยจะอุทธรณ์ในประเด็นเดียวกับที่ได้พิพากษาไปแล้วไม่ได้ ส่วนข้อเท็จจริงเห็นพ้องตามศาลมณฑลทหารบกที่ ๗ พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทั้งในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงว่า เกี่ยวกับเวลากระทำผิดในฟ้องว่าเป็นเวลากลางวัน แต่ทางพิจารณาได้ความเป็นเวลากลางคืน ศาลควรยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๒ ส่วนข้อเท็จจริงต่อสู้ว่าป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดในเวลากลางวัน แต่ทางพิจารณาปรากฎว่าเหตุเกิดในเวลากลางคืนประมาณ ๒๒.๐๐ หรือ ๒๓.๐๐ น. ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาต่างกับฟ้อง ปํญหาข้อกฎหมายจึงเกิดขึ้น ๒ ข้อ คือ
(๑) เมื่อศาลมณฑลทหารบกที่ ๗ พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยเหตุนี้แล้ว โจทก์อุทธรณ์และศาลทหารกลางวินิจฉัยว่า กรณีต้องนำเอามาตรา ๑๐๐ แห่ง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๔๙๖ มาใช้บังคับ จึงให้ยกคำพิพากษาศาลมณฑลทหารบกที่ ๗ ให้พิจารณาพิพากษาใหม่ และจำเลยมิได้เคยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลทหารกลางแต่อย่างใด ในชั้นนั้น เมื่อศาลทหารบกที่ ๗ พิจารณาใหม่แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยและศาลทหาร+ พิพากษายืนดังนี้แล้ว จำเลยจะฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้หรือไม่
(๒) ถ้าจำเลยฎีกาได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า โจทก์ฟ้องจำเลยไว้แล้วก่อน พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร(ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๖ ออกใช้บังคับ ศาลจะนำเอามาตรา ๑๐๐ แห่ง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารนั้นมาใช้ในการพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่
ในปัญหาข้อ (๑) นั้น เห็นว่า เมื่อศาลทหารกลางพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลมณฑลทหารบกพิจารณาพิพากษาใหม่ คดีนี้ยังหาได้ถึงที่สุดประการใดไม่ และข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย คู่ความหรือศาลย่อมยกขึ้นกล่าวอ้างได้ไม่ว่าในขณะใดตราบที่คดียังไม่ถึงที่สุดตาม ป.วิ.อาญามาตรา ๑๙๕วรรค ๒
ส่วนปัญหาข้อ (๒) นั้น เห็นว่า ศาลหาอาจนำมาตรา ๑๐๐ แห่ง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร(ฉบับที่+) พ.ศ. ๒๔๙๖ มาบังคับแก่คดีนี้ได้ไม่ เพราะจะเป็นการนำเอากฎหมายที่ออกใช้ภายหลังมาลงโทษจำเลยซึ่งได้ฟ้องไว้ก่อนแล้ว และฟ้องของโจทก์ที่ผิดจากข้อเท็จจริงไปนั้นเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องซึ่งเกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร(ฉบับที่ ๕)พ.ศ. ๒๔๙๖ พระราชบัญญัติฉบับนี้จะใช้บังคับได้ก็แต่ฉะเพาะฟ้องที่ไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นภายหลังวันใช้บังคับกฎหมายเท่านั้น กฎหมายใหม่ในกรณีเช่นนี้หาอาจไปแก้ไขฟ้องที่ไม่ถูกต้องให้เป็นการถูกต้องขึ้นได้ไม่
พิพากษายกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลย