แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การตีความข้อยกเว้นจากหลักทั่วไป ต้องตีความโดยจำกัดเงื่อนไขห้ามการโอนกรรมสิทธิในทรัพย์สินที่ให้ก่อนตายหรือโดยพินัยกรรมจะมีอยู่ได้ก็โดยจำกัดอย่างเคร่งครัด
พระราชหัตถเลขาพระราชทานที่ดิน มีข้อความว่า ยกที่ดินให้เป็นสิทธิแก่ผู้รับผู้เดียว ถ้าผู้รับไม่มีตัวลงเมื่อใดก็ให้ที่ตกเป็นของผู้ที่ควรจะได้รับมฤดกตามความพอใจของผู้รับหรือตามพระราชกำหนดกฎหมายต่อไปอีกประการหนึ่งในเวลาที่พระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ถ้าผู้รับจะขายที่รายนี้ให้แก่ผู้ใดต้องบอกให้พระองค์รู้ก่อน เมื่อพระองค์ทรงอนุญาตแล้วจึงขายได้ ดังนี้ ย่อมเห็นได้ชัดแล้วว่าเมื่อพระองค์ท่านเสด็จสวรรคแล้ว ผู้รับก็มิต้องขอพระบรมราชานุญาตอย่างใดในการโอน
พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงสั่งไว้ในเรื่องพระทรงพลราบขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขายที่ดินซึ่งได้รับพระราชทาน ให้แก่นายพีที,วอง เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2471 ซึ่งมีข้อความว่า “..สำหรับกระทรวงเกษตรนั้น จะจัดการตามหน้าที่ ให้ในเรื่องเช่นนี้ได้ต่อเมื่อเจ้าของที่มีหนังสือสำคัญแสดงว่าได้รับพระบรมราชานุญาตให้ขาย ก็ให้จัดการไปได้ ถ้าไม่มีหนังสือต้องไม่รับรู้เสียทีเดียว ให้ไปนำหนังสือมาก่อน..” นั้น เป็นพระบรมราชโองการเพื่อวางวิธีการปฏิบัติสำหรับที่ดินที่พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 6 พระราชทานแก่ข้าทูลลอองธุลีพระบาทของพระองค์ซึ่งยังสับสนกันอยู่เท่านั้น คำว่า ” เรื่องเช่นนี้ ” จะแปลความไปให้หมายถึงที่ดินที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ไม่ว่าในรัชการใด ๆ นั้นหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขอร้องให้โจทก์เข้าประมูลซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดที่ ๔๙๒ อันเป็นทรัพย์ในกองมรดกเจ้าจอมมารดาเอิบในนามของจำเลย โดยจำเลยทำสัญญากับโจทก์ตามหนังสือสัญญาลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๘๘ ว่า ถ้าโจทก์ประมูลได้ จำเลยจะโอนโฉนดที่ดินแปลงนี้ให้โจทก์ต่อไปโจทก์ประมูลซื้อที่ดินรายนี้ได้ และได้ชำระราคาให้แก่จำเลยเพื่อชำระแก่กองมรดกเป็นจำนวนเงิน ๕๕๑๐๐ บาท และกองมรดกได้โอนที่ดินรายนี้ให้เป็นในนามของจำเลยแล้ว โจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาหลายครั้ง จำเลยผัดเพี้ยนเรื่อยมา ในที่สุดได้มีหนังสือถึงโจทก์ว่า ผู้สำเร็จราชการในพระองค์มีบัญชาไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาต โจทก์ถือว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยนั้นมิใช่สัญญาจะซื้อขาย หากเป็นสัญญาที่โจทก์เข้าประมูลซื้อที่ดินและชำระราคาโดยอาศัยชื่อจำเลยเมื่อโจทก์ซื้อได้แล้ว จำเลยต้องโอนโฉนดให้ตามสัญญา ทั้งไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน จึงขอศาลบังคับให้จำเลยโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาให้โจทก์ ถ้าไม่สามารถโอนได้ ก็ให้จำเลยคืนราคา ๕๕๑๐๐ บาทและชดใช้ค่าเสียหาย ๙๔๙๐๐ บาท รวมเป็น ๑๕๐๐๐๐ บาทแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยต่อสู้ที่พิพาทเป็นที่ดินพระราชทาน ซึ่งจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตก่อนจึงจะโอนได้จำเลยได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเพื่อขายให้โจทก์แล้ว แต่ไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ขายได้ จำเลยจึงโอนไม่ได้ และไม่ต้องรับผิด ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า การขายที่ดินพระราชทาน ต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน เรื่องนี้ไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาต จำเลยจึงไม่สามารถโอนขายให้โจทก์ได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของจำเลย แต่เป็นด้วยเหตุสุดวิสัย จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้จำเลยคืนราคาเดิมของที่ดิน ๕๕,๑๐๐ บาทแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดที่ ๔๙๒ ให้โจทก์ ถ้าไม่สามารถปฏิบัติตามนี้ได้ ก็ให้จำเลยคืนราคาเดิม ๕๕๑๐๐ บาทให้โจทก์ และขอใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๐๐๐๐ บาทให้โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินพิพาทนี้เป็นที่ดินส่วนหนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ในรัชกาลที่ ๕) ได้พระราชทานให้แก่เจ้าจอมมารดาเอิบ ในพระราชหัตถเลขาพระราชทานนั้นมีข้อความว่า “ฯลฯ ที่รายนี้ข้าพเจ้าขอยกให้เป็นสิทธิแก่เอิบผู้เดียว ฯลฯ ถ้าเอิบไม่มีตัวลงเมื่อใด ที่ทั้งหลายนี้ตกเป็นของผู้ที่ควรจะได้รับมรฎกตามความพอใจของเอิบ ฤาตามพระราชกำหนดกฎหมายต่อไป ฯลฯ อีกประการหนึ่งในเวลาที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ ถ้าเอิบจะขายที่สวนรายนี้ ฯลฯ ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ต้องบอกให้ข้าพเจ้ารู้ก่อน ต่อข้าพเจ้าอนุญาตแล้วจึงขายได้ ” ตามพระราชหัตถเลขานี้ เป็นที่เห็นชัดว่า เงื่อนไขห้ามโอนนั้นผูกมัดแต่เฉพาะตัวเจ้าจอมมารดาเอิบและมีอยู่แต่เฉพาะเวลาในรัชกาลที่ ๕ ข้อต่อสู้ของจำเลยในเรื่องต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น เนื่องจากพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตามสำเนาเอกสารที่จำเลยอ้างส่งศาลซึ่งมีข้อความดังนี้ ” สำเนาพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงสั่งในเรื่องพระทรงพลกราบขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขายที่ดิน ซึ่งได้รับพระราชทานให้แก่นาย พี.ที.วอง เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๗๑
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
สำหรับกระทรวงเกษตรนั้น จะจัดการตามหน้าที่ให้ในเรื่องเช่นนี้ได้ ต่อเมื่อเจ้าของที่มีหนังสือสำคัญแสดงว่าได้รับพระบรมราชานุญาตให้ขาย ก็ให้จัดการไปได้ ถ้าไม่มีหนังสือต้องไม่รับรู้เสียทีเดียว ให้ไปนำหนังสือมาก่อน ( พระปรมาภิไชย ) ประชาธิปก ”
ศาลฎีกาได้ตรวจพิเคราะห์แล้ว กรณีพิพาทรายนี้ตามพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๖ ก็บ่งระบุอยู่ชัดแล้วว่า เมื่อพระองค์ท่านเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าจอมมารรดาเอิบก็มิต้องขอพระบรมราชานุญาตอย่างใดในการจะโอน และตาม ป.พ.พ. ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ การวางเงื่อนไขห้ามโอนกรรมสิทธิในทรัพย์สินที่ให้ก่อนตายหรือโดยพินัยกรรมนั้นจะมีอยู่ได้แต่โดยข้อจำกัดอย่างเคร่งครัด ศาลฎีกาจึงเห็นว่าพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๗ นั้น หาได้มีพระราชประสงค์จะขัดพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีอยู่ชัดแล้วนั้นไม่ หากแต่เป็นพระบรมราชโองการเพื่อวางวิธีการปฏิบัติ สำหรับที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ข้าทูลลอองธุลีพระบาทของพระองค์ซึ่งยังสับสนกันอยู่เท่านั้น คำว่า ” เรื่องเช่นนี้ ” ในพระบรมราชโองการนั้น จึงหมายเฉพาะที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๖ พระราชทานเท่านั้น จะแปลความไปให้หมายถึงที่ดินที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ไม่ว่าในรัชกาลใด ๆ นั้นหาได้ไม่ จำเลยมีสิทธิที่จะปฏิบัติการชำระหนี้
คือทำการโอนที่ดินรายพิพาทให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุสุดวิสัยขัดขวาง ศาลฎีกาจึ่งพิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์