แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อย่างไรเรียกว่าผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ (เทียบฎีกาที่ 667/72,แลที่ 1148/73)
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ได้ถอนฟ้องคดีฉะเพาะจำเลยที่ ๑ เสียเพราะส่งหมายไม่ได้ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เปนผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ในจำนวนเงินค่าซื้อของเชื่อจากโจทก์ ครั้นถึงกำหนดชำระเงินจำเลยที่๑ ไม่ชำระให้โจทก์ ต่อมาโจทก์จึงฟ้องเรียกเงินจากจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ดังนี้มี ปัญหาที่โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ในเมื่อจำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในวันครบกำหนดนั้นจะเปนการผ่อนเวลาตามมาตรา ๗๐๐ หรือไม่
ศาลเดิมและศาลอุทธรณ์ตัดสินให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ใช้เงินแก่โจทก์ตามฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์เช่นนี้หาใช่เปนการที่โจทก์ยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ตามมาตรม ๗๐๐ ไม่ดังฎีกาที่ ๖๖๗/๒๔๗๒ และที่ ๑๑๔๘/๒๔๗๓ ความจริงเมื่อจำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ผู้ค้ำประกันได้เกิดขึ้นแล้ว แลโจทก์อาจฟ้องจำเลยทั้ง ๓ ได้ในเวลาใด ๆ ภายในกำหนดอายุความ และข้อที่จำเลยที่ ๒-๓ เถียงว่า โจทก์ปล่อยปละละเลยไม่ฟ้องร้องจนจำเลยที่ ๑ เลิกการค้าขายเปนเหตุให้จำเลยที่ ๒-๓ เสียหายก็ฟังไม่ขึ้นเพราะเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วจำเลยที่ ๒-๓ อาจชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทันทีได้ตามมาตรา ๗๐๑ แล้วไปไล่เบี้ยเอา การที่จำเลยที่ ๒-๓ เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์จนจำเลยที่ ๑ อพยพไปเช่นนี้เปนความผิดของจำเลยที่ ๒-๓ เอง จึงตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์