แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คนต่างด้าวเข้ามาในอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือสำ-หรับตัวแลไม่เสียค่าธรรมเนียมข้อลงโทษปรับตาม ม.14 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2470 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2474 ม.6 กับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2477 ม.3 วิธีแก้กฎหมายและยกเลิกกฎหมาย
ย่อยาว
คดีนี้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ จำเลยทั้ง ๓ คนซึ่งเป็นคนต่างด้าวได้หลีกเลี่ยงเข้ามาในพระราชอาณาจักรสยามโดยไม่มีหนังสือสำหรับตัวแลไม่เสียเงินค่าธรรมเนียมให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ศาลเดิมเห็นว่า เรื่องนี้ต้องยกพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๗๔ ม.๖ เป็นบทลงโทษ จึงพิพากษาให้ปรับจำเลยคนละ ๑๕๐ บาทลดฐานปราณีลง ๑ ใน ๓ คงปรับคนละ ๑๐๐ บาท
ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลเดิมให้ลงโทษปรับจำเลยตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๔๗๐ มาตรา ๑๔ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ. พ.ศ.๒๔๗๔ ม.๖ แล พ.ศ.๒๔๗๗ ม.๓ ให้ปรับในคั่นต่ำคนละ ๒๐๐ บาท ลดฐานปราณีกึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ ๑๐๐ บาท
จำเลยฎีกาว่าควรยก พ.ร.บ.คนเข้าเมืองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๗๔ ม.๖ ขึ้นเป็นบทลงโทษ
ศาลฎีกาเห็นว่า พ.ร.บ.คนเข้าเมืองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๗๔ ม.๖ ให้ยกเลิกบทบัญญัติม.๑๔ แห่ง พ.ร.บ.ปี พ.ศ.๒๔๗๐ บัญญัติข้อความไว้ใหม่แทนที่เป็นมาตรา ๑๔ แห่ง พ.ร.บ.ปี พ.ศ.๒๔๗๐ ไว้แล้ว ต่อมาได้มีแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ.๒๔๗๗ ตาม ม.๓ ให้ยกเลิกอัตราโทษใน ม.๑๔ แห่ง พ.ร.บ.ปี พ.ศ.๒๔๗๐ แลให้ใช้อัตราใหม่แทน กล่าวคือปรับตั้งแต่ ๒๐๐ บาทขึ้นไปจนถึง ๑๐๐๐ บาท เห็นว่าตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๗๗ นี้เป็นการแก้ไข พ.ร.บ.ปี พ.ศ.๒๔๗๐ ม.๑๔ ภายหลังที่ได้มีข้อความใหม่แทนที่ข้อความเดิมแล้ว ฉะนั้นจึงเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ม.๑๔ แห่ง พ.ร.บ. พ.ศ.๒๔๗๐ ที่ได้แทนที่แล้วนั่นเอง จะเถียงว่า พ.ร.บ. พ.ศ.๒๔๗๗ ไร้ผลใช้บังคับคดีไม่ได้นั้นฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์