ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
ความผิดฐานเก็บหาของป่า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2661/2561
ความผิดฐานเก็บของป่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุกคนละ 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานเก็บของป่าแต่ยังคงมีความผิดฐานยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษกึ่งหนึ่งคงปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะได้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสองอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ในข้อนี้มานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อพิจารณาคำว่า ของป่า ตาม พ.ร.บ.สงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4 ให้ความหมายไว้ว่า ของป่าหมายความว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่าเป็นต้นว่า (1) ไม้ฟืน ถ่าน เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ เมล็ด ผลไม้ หน่อไม้ ชันไม้ และยางไม้ แสดงว่าของป่าตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มีความหมายรวมทั้งหมดไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือสิ่งที่มนุษย์ปลูกสร้างขึ้น หากเกิดขึ้นและมีอยู่ในป่าแล้ว ล้วนแต่เป็นของป่าทั้งสิ้น ซึ่งจะแตกต่างจากคำนิยามของคำว่า ของป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (7) ซึ่งให้ความหมายว่า ของป่า หมายความว่า บรรดาของที่เกิดขึ้นหรือมีขึ้นในป่าตามธรรมชาติ จึงหมายถึงเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในป่าแห่งนั้น ส่วนสิ่งที่ปลูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ไม่อาจเป็นของป่าไปได้ ความหมายของคำว่า ของป่า ตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าว จึงแตกต่างกัน ต้นปาล์มน้ำมันที่บริษัท ว. ปลูกขึ้นในป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุตั้งแต่ขณะได้รับอนุญาตจากรัฐ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ย่อมไม่อาจเป็นของป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ได้ แต่เนื่องจากต้นปาล์มน้ำมันดังกล่าวต้องถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่า ย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า ของป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 นั้นเอง การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เข้าไปเก็บเอาผลปาล์มน้ำมัน น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม ในป่าสงวนแห่งชาติ ป่ารับร่อ และป่าสลุย ที่เกิดเหตุ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 แล้ว