แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ช. เป็นพนักงานของจำเลยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสอบและรวบรวมประวัติการรักษาพยาบาลของ ล. ถือได้ว่า ช. เป็นตัวแทนของจำเลยแล้ว ในการตรวจสอบประวัติการเข้ารับการรักษาพยาบาลของ ล. นั้น ช. เป็นผู้ติดตามประวัติ ทำบันทึกข้อความรายงานว่า พบประวัติการรักษาที่โรงพยาบาล อ. และโรงพยาบาล ส. ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า ล. เป็นโรคถุงลมโป่งพอง และในส่วนของเอกสารประวัติการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ส. มีรายการครั้งสุดท้ายระบุว่า วันที่ 26 มกราคม 2541 ธนาคาร อ. ขอประวัติ เช่นนี้ไม่ว่า ช. จะได้รับประวัติการตรวจรักษาในวันดังกล่าว หรือได้รับในวันที่ 31 มกราคม 2541 กำหนดระยะเวลาหนึ่งเดือนในการใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง ก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ช. ได้รับประวัติการตรวจรักษาของ ล. ซึ่งเป็นการทราบมูลอันจำเลยจะบอกล้างโมฆียะกรรมได้ มิใช่ต้องมีการเสนอเรื่องให้ผู้มีอำนาจของจำเลยพิจารณาหรือรับทราบเสียก่อน เพราะการบอกล้างโมฆียะกรรมเพียงแต่ทราบเค้าเรื่องที่ตกเป็นโมฆียะกรรมก็เป็นการทราบมูลอันจะบอกล้างแล้ว เมื่อจำเลยได้รับประวัติการตรวจรักษาของ ล. จากโรงพยาบาล ข้อเท็จจริงที่ ล. ปกปิดไว้ได้ปรากฏขึ้นจำเลยจึงต้องแสดงเจตนาใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตไปยังผู้รับประโยชน์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่เวลานั้น อีกทั้งหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมที่ผู้รับประกันภัยมีถึงผู้รับประโยชน์นั้นย่อมมีผลนับแต่เวลาที่ผู้รับประโยชน์ได้รับหนังสือดังกล่าว ซึ่งโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2541 โดยจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้าน ดังนี้ การแสดงเจตนาบอกล้างโมฆียะกรรมของจำเลยจึงไปถึงโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมได้ ไม่ว่าจะถือว่าจำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมได้ในวันที่ 26 มกราคม 2541 หรือวันที่ 31 มกราคม 2541 ก็ตาม การใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมของจำเลยจึงไม่ชอบตามมาตรา 865 วรรคสอง
ที่โจทก์ที่ 1 ขอให้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า โจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องมาในคำแก้ฎีกานั้น โจทก์ที่ 1 ชอบที่จะยื่นคำฟ้องฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 เพราะโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง จะยื่นมาในคำแก้ฎีกามิได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความแถลงสละประเด็นข้อพิพาททั้งหมด คงเหลือแต่ประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยบอกล้างสัญญาประกันชีวิตโดยชอบหรือไม่ โดยรับกันว่า หากเป็นการบอกล้างโดยชอบ จำเลยไม่ต้องชำระเงิน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แต่หากเป็นการบอกล้างโดยไม่ชอบ จำเลยยอมชำระเงิน 200,000 บาท โดยนำค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ที่คืนไปแล้วมาหักกลบลบหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 134,830 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องสำหรับโจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2538 นายเลิศชัย ทำสัญญาประกันชีวิตไว้แก่จำเลย สาขาพนัสนิคม โดยเปิดบัญชีฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว แบบร่มไทร จำนวนเงินสงเคราะห์ชีวิต 200,000 บาท และกำหนดความคุ้มครองเพิ่มอีก 100,000 บาท กรณีผู้ฝากประสบอุบัติเหตุ อัตราส่งเงินฝากเดือนละ 2,450 บาท ระยะเวลา 10 ปี มีโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้รับประโยชน์ ตามกรมธรรม์การฝากเงิน ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2540 นายเลิศชัยถูกยิงด้วยอาวุธปืนถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ขอรับเงินสงเคราะห์จากจำเลย ตามแบบแจ้งการตายและขอรับเงิน จำเลยตรวจสอบประวัติการเข้ารับการรักษาพยาบาลของนายเลิศชัยทราบว่า นายเลิศชัยป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองและโรคหอบมาก่อน ตามประวัติการตรวจรักษา แต่นายเลิศชัยไม่ได้แถลงข้อความจริงแก่จำเลยในการทำสัญญาประกันชีวิต หากมีการแถลงข้อความจริงดังกล่าว จำเลยจะไม่รับประกันชีวิตนายเลิศชัย ต่อมาจำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้รับประโยชน์ และแจ้งให้ทายาทของนายเลิศชัยไปรับเงินฝากตามเงื่อนไขกรมธรรม์เป็นเงิน 65,170 บาท ตามหนังสือบอกเลิกสัญญา อันเป็นการบอกล้างสัญญาประกันชีวิต หลังจากนั้นนายคมสัน ผู้จัดการมรดกของนายเลิศชัยได้ขอรับเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลย ตามคำขอรับเงินมรดกออมสินและใบจ่ายเงินฝาก
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยบอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ทราบมูลอันจะบอกล้างหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยขอประวัติการตรวจรักษาของนายเลิศชัย จากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2541 แต่เพิ่งได้รับเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2541 และนายชำนิ พนักงานผู้รวบรวมประวัติต้องเสนอเรื่องแก่ผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาว่าจะบอกเลิกสัญญาประกันชีวิตหรือไม่ เมื่อนายอุดม ผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยทราบความเห็นของนายชำนิเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2541 จึงถือได้ว่า จำเลยทราบมูลเหตุอันจะบอกล้างในวันดังกล่าวและจำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 โดยศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงว่าหนังสือไปถึงโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ในวันที่ 9 มีนาคม 2541 จึงอยู่ในกำหนดหนึ่งเดือนนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายชำนิว่า นายชำนิเป็นพนักงานของจำเลยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสอบและรวบรวมประวัติการรักษาพยาบาลของนายเลิศชัย ถือได้ว่านายชำนิเป็นตัวแทนของจำเลยแล้ว ในการตรวจสอบประวัติการเข้ารับการรักษาพยาบาลของนายเลิศชัยนั้น นายชำนิเป็นผู้ติดตามประวัติ ทำบันทึกข้อความรายงานว่า พบประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชลและโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่านายเลิศชัยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง และในส่วนของเอกสารประวัติการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา มีรายการครั้งสุดท้ายระบุว่า วันที่ 26 มกราคม 2541 ธนาคารออมสินขอประวัติ เช่นนี้ไม่ว่านายชำนิจะได้รับประวัติการตรวจรักษาในวันดังกล่าว หรือได้รับในวันที่ 31 มกราคม 2541 กำหนดระยะเวลาหนึ่งเดือนในการใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง ก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่นายชำนิได้รับประวัติการตรวจรักษาของนายเลิศชัยซึ่งเป็นการทราบมูลอันจำเลยจะบอกล้างโมฆียะกรรมได้ มิใช่ต้องมีการเสนอเรื่องให้ผู้มีอำนาจของจำเลยพิจารณาหรือรับทราบเสียก่อนดังที่จำเลยฎีกา เพราะการบอกล้างโมฆียะกรรมเพียงแต่ทราบเค้าเรื่องที่ตกเป็นโมฆียะกรรมก็เป็นการทราบมูลอันจะบอกล้างแล้ว เมื่อจำเลยได้รับประวัติการตรวจรักษาของนายเลิศชัยจากโรงพยาบาล ข้อเท็จจริงที่นายเลิศชัยปกปิดไว้ได้ปรากฏขึ้นจำเลยจึงต้องแสดงเจตนาใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตไปยังผู้รับประโยชน์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่เวลานั้น อีกทั้งหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมที่ผู้รับประกันภัยมีถึงผู้รับประโยชน์นั้นย่อมมีผลนับแต่เวลาที่ผู้รับประโยชน์ได้รับหนังสือดังกล่าวซึ่งศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงส่วนนี้ว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2541 โดยจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้าน ดังนี้ การแสดงเจตนาบอกล้างโมฆียะกรรมของจำเลยจึงไปถึงโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมได้ ไม่ว่าจะถือว่าจำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมได้ในวันที่ 26 มกราคม 2541 หรือวันที่ 31 มกราคม 2541 ก็ตาม การใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมของจำเลยจึงไม่ชอบตามมาตรา 865 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่โจทก์ที่ 1 ขอให้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า โจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องมาในคำแก้ฎีกานั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ชอบที่จะยื่นคำฟ้องฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 เพราะโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง จะยื่นมาในคำแก้ฎีกามิได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และในการดำเนินคดีของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 มีโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ดำเนินคดีแทน โดยมิได้แต่งตั้งทนายความ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความใช้แทนให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่กำหนดค่าทนายความใช้แทนให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ