คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 995/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นิติบุคคล หาจำต้องจำกัดว่าอยู่ใน 6 จำพวกดังที่กล่าวไว้ใน มาตรา 72 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ มาตรา 68ได้บัญญัติไว้เป็นทำนองว่านิติบุคคลจะมีขึ้นได้ไม่เฉพาะแต่ต้องอาศัยอำนาจแห่งบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างเดียว อาจอาศัยอำนาจกฎหมายอื่นก็ได้
สุขาภิบาลหัวเมืองจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ดูพระราชบัญญัติจัดการตั้งสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ.127
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติแห่งมาตรา 4,8,9,10,11 แห่งพระราชบัญญัติจัดการตั้งสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ.127 แล้วพึงเห็นได้ว่าเงินภาษีโรงร้านที่พระราชทานให้เก็บใช้ในการตั้งสุขาภิบาลนั้นก็ดี หรือว่าเงินผลประโยชน์อย่างอื่นที่จะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เฉพาะในการสุขาภิบาลนั้นก็ดี สุขาภิบาลมีกรรมสิทธิ์ในเงินเหล่านั้นได้เช่นบุคคลในกฎหมายซึ่งอาจจะถือได้ว่าสุขาภิบาลเป็นนิติบุคคลเพื่อการมีสิทธิในเงินดังกล่าวแล้ว
มาตรา 69 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่านิติบุคคลย่อมมีสิทธิ์และหน้าที่ต่างๆ ตามบทบัญญัติทั้งปวงแห่งกฎหมายภายในขอบวัตถุประสงค์ของตนดังมีกำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งดังนี้ เมื่อพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลอันเป็นตราสารจัดตั้งสุขาภิบาลได้กำหนดให้สุขาภิบาลมีสิทธิแต่เพียงที่เกี่ยวกับเงินที่จะพระราชทานให้เท่านั้น สุขาภิบาลนั้นหามีสิทธิแสวงหาประโยชน์ในทางอื่นเช่นบุคคลธรรมดาไม่
ที่ดินที่พิพาทในคดีนี้ แม้จะถือว่าเป็นที่รกร้างว่างเปล่า สุขาภิบาลก็ไม่มีสิทธิจะเข้าจับจองถือเอาเพื่อกรรมสิทธิ์แก่สุขาภิบาลโดยเฉพาะ เพราะอยู่นอกวัตถุประสงค์ของตราสารจัดตั้งสุขาภิบาล
คำพิพากษาซึ่งในที่สุดจะต้องเป็นเรื่องชี้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ย่อมใช้ผูกพันประชาชนได้ทั่วไป จึงเป็นข้อที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อสุขาภิบาลไม่มีสิทธิอย่างนิติบุคคลในอันที่จะจับจองหรือถือเอาที่ดินที่ไม่มีผู้ครอบครองเพื่อกรรมสิทธิ์เฉพาะตนในอันที่จะแสวงผลกำไรสู่ตนโดยไม่ใช่การต่างๆ ที่พระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลมอบหน้าที่ให้ไว้ ศาลย่อมจะพิพากษาให้เกิดผลในที่ดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของสุขาภิบาลไม่ได้

ย่อยาว

ความว่าที่พิพาทเดิมมีเจ้าของครอบครองอยู่แล้วหลวงประเทศฯได้รับซื้อทั้งที่ดินและตึกแถวไว้ 4 ห้อง ต่อมาบริษัททุ่งคาคัมปาวน์เข้ามาทำเหมืองแร่ ทางฝ่ายบ้านเมือง พิจารณาให้บริษัทใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของที่ดินเหล่านั้นตึกของหลวงประเทศฯ ก็ถูกทำลายเพราะการทำเหมืองด้วย บริษัทฯ ทำเหมืองได้ 6-7 ปีก็เลิกไป ที่พิพาทกลายเป็นที่ลุ่ม หลวงประเทศฯ ได้เข้าครอบครองและถมที่ขึ้นจนเสมอระดับถนนและปลูกโรงเรือนครอบครองตลอดมา เมื่อ พ.ศ. 2478 หลวงประเทศฯ ร้องขอต่อพนักงานที่ดินให้รังวัดที่พิพาทออกโฉนดแผนที่สุขาภิบาลเมืองภูเก็ตได้ไปร้องคัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินสั่งให้สุขาภิบาลเมืองภูเก็ตฟ้องศาลประธานกรรมการสุขาภิบาลเมืองภูเก็ตได้ฟ้องหลวงประเทศฯ เป็นจำเลยต่อศาล แต่ในที่สุดศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เพราะไม่มีตัวโจทก์ ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองภูเก็ตโอนทรัพย์สินตลอดจนสิทธิและหน้าที่ของสุขาภิบาลมาเป็นของเทศบาล ๆ พยายามตกลงกับหลวงประเทศฯ โดยจะให้หลวงประเทศฯ ทำสัญญาเช่า แต่ยังไม่เป็นที่ตกลงกันได้ในที่สุดหลวงประเทศฯ ตาย โจทก์เป็นผู้ขอรับมรดกเมื่อ พ.ศ. 2488 เทศบาลเมืองภูเก็ตร้องขอรังวัดออกโฉนดแผนที่สำหรับที่พิพาทนี้โจทก์ได้ร้องคัดค้าน คราวนี้เจ้าพนักงานสั่งให้โจทก์เป็นผู้ฟ้องโจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้ศาลแสดงว่าที่พิพาทเป็นมรดกตกทอดของหลวงประเทศฯ และห้ามไม่ให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้อง จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินเป็นของเทศบาลและฟ้องแย้งว่าหลวงประเทศฯ ปลูกโรงขึ้นในที่ดินนี้โดยได้รับอนุญาตจากข้าหลวงประจำจังหวัด และขอให้บังคับขุนนิเทศรื้อเรือนโรง และเรียกค่าเช่า

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่นี้ไม่ใช่ของสุขาภิบาลเมืองภูเก็ตเพราะสุขาภิบาลไม่ใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเมื่อเป็นเช่นนี้เทศบาลเมืองภูเก็ตก็ไม่ใช่เจ้าของที่นี้ฝ่ายขุนนิเทศมีหลักฐานว่าหลวงประเทศฯ เมื่อยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้ครอบครองที่นี้ ต่อมาขุนนิเทศครอบครองพิพากษาให้ขุนนิเทศชนะคดี และห้ามไม่ให้เทศบาลเกี่ยวข้องในที่รายนี้ ให้ถอนคำขอรับโฉนด

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นิติบุคคลหาจำต้องจำกัดว่าอยู่ใน 6 จำพวกดังที่กล่าวไว้ในมาตรา 72 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ มาตรา 68 ได้บัญญัติไว้เป็นทำนองว่านิติบุคคลจะมีขึ้นได้ไม่เฉพาะแต่ต้องอาศัยอำนาจแห่งบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างเดียว อาจอาศัยอำนาจกฎหมายอื่นก็ได้

สุขาภิบาลเมืองจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ดูกฎหมายที่จัดตั้งสุขาภิบาลนั้น ๆ ขึ้นว่า ได้มีบทบัญญัติให้สุขาภิบาลนั้นมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายต่างหากจากบุคคลธรรมดาหรือไม่ กฎหมายที่ว่านี้ก็คือพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. 127 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติถึงความหมายของการสุขาภิบาลมาตรา 8 บัญญัติถึงเงินทุนที่ใช้จ่ายจัดการสุขาภิบาลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผลประโยชน์ที่เก็บได้จากภาษีโรงร้านในท้องที่สุขาภิบาล ให้ใช้จ่ายในการสุขาภิบาลนั้น มาตรา 11สุขาภิบาลสำหรับหัวเมืองหนึ่งให้มีกรรมการ 9 คน ดังนี้จะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลนั้นมุ่งประสงค์แต่จะจัดวางวิธีการให้มีอภิบาลความสุขของราษฎรในท้องที่ขึ้นเท่านั้น แต่ความในมาตรา 9, 10 มีบัญญัติต่อไปว่า “การเก็บภาษีสำหรับใช้ในการสุขาภิบาลนั้น ฯลฯ เมื่อหักเงินที่ใช้จ่ายที่รัฐบาลต้องเสียไปในการเก็บส่งพระคลังเหลือเท่าใดเป็นของสุขาภิบาล” และว่า “เงินโรงร้านที่พระราชทานให้เก็บใช้เฉพาะในการสุขาภิบาลนั้นก็ดีหรือว่าเงินผลประโยชน์อย่างอื่นที่จะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เฉพาะในการสุขาภิบาลนั้นก็ดี ให้ยกออกเป็นแผนกหนึ่งต่างหากจากผลประโยชน์ในราชการแผ่นดิน” ข้อความเหล่านี้อาจวินิจฉัยได้ว่าบทกฎหมายดังกล่าว ได้บัญญัติให้สุขาภิบาลมีกรรมสิทธิ์ในเงินเหล่านั้น เช่นบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะถือว่าสุขาภิบาลเป็นนิติบุคคลเพื่อการมีเงินดังกล่าวแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 69 บัญญัติว่า นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ตามบทบัญญัติทั้งปวงแห่งกฎหมายภายในขอบวัตถุประสงค์ของตนดังที่กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง ดังนี้เมื่อพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลอันเป็นตราสารจัดตั้งสุขาภิบาลได้กำหนดให้สุขาภิบาลมีสิทธิแต่เพียงที่เกี่ยวกับเงินที่จะพระราชทานให้เท่านั้น หามีสิทธิแสวงหาประโยชน์ในทางอื่นเช่นบุคคลธรรมดาไม่ ในคดีนี้จำเลยอ้างว่าที่ดินนั้นเป็นของจำเลย โดยสุขาภิบาลได้เข้าถือเอาหรือครอบครองไว้เพื่อการเป็นเจ้าของแต่ลำพังตน แม้จะถือว่าว่าเป็นที่รกร้างว่างเปล่า สุขาภิบาลก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้าจับจองถือเอาเพื่อกรรมสิทธิ์แก่สุขาภิบาล โดยเฉพาะเพราะอยู่ภายนอกของวัตถุประสงค์ของตราสารจัดตั้งการสุขาภิบาลนั้น การกระทำของสุขาภิบาลถึงหากจะถือว่าสุขาภิบาลนั้น การกระทำของสุขาภิบาลถึงหากจะถือว่าสุขาภิบาลเป็นนิติบุคคล ก็เป็นการกระทำที่เป็นโมฆะเสียเปล่าใช้ไม่ได้ ไม่เป็นการกระทำที่จะรับบังคับบัญชาให้ได้ตามกฎหมาย

อนึ่ง ความข้อนั้นมิได้มีฝ่ายใดยกขึ้นเป็นข้อว่ากล่าวมาโดยตรง แต่ศาลฎีกาเห็นว่า คำพิพากษาซึ่งในที่สุดจะต้องเป็นเรื่องชี้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ย่อมผูกพันประชาชนได้ทั่วไป จึงเป็นข้อเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อสุขาภิบาลไม่มีสิทธิอย่างนิติบุคคลในอันที่จะจับจองหรือถือเอาที่ดินที่ไม่มีผู้ครอบครองเพื่อเป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะตนในอันที่จะแสวงหาผลกำไรสู่ตน ไม่ใช่การต่าง ๆ ตามที่พระราชบัญญัติมอบหน้าที่ได้กล่าวไว้ ศาลย่อมจะพิพากษาให้เกิดผลในที่ดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของสุขาภิบาลไม่ได้

พิพากษายืน

Share