คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9945/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้หนี้ตามสัญญาจำนองและบันทึกขึ้นเงินจำนองครั้งที่หนึ่งขาดอายุความแล้ว แต่เมื่อโจทก์จำเลยยังมีหนี้เดิมต่อกัน หนังสือสัญญากู้ยืมที่แปลงหนี้มาก็ย่อมมีมูลหนี้และทำให้หนี้เงินกู้เดิมย่อมระงับไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ ป.พ.พ. มาตรา 349 ส่วนประกันของหนี้เดิมอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้คือการจำนองย่อมโอนไปเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินที่เป็นหนี้รายใหม่และยังไม่ขาดอายุความ จึงไม่นำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 มาใช้บังคับ
สำหรับหมายเหตุด้านล่างตามสัญญากู้ยืมไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ตกลงด้วย โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 914,965.33 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 230,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ให้ไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 15109 ตำบลดำเนินสะดวก อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ให้จำเลย ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี ในจำนวนเงินค่าไถ่ถอนจำนวน 402,500 บาท หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ โดยจำเลยจะนำเงินจำนวน 402,500 บาท มาวางต่อศาลชั้นต้นก่อน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์จำนวน 230,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2532 และของต้นเงิน 130,000 บาท นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 684,965.33 บาท ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 15109 ตำบลดำเนินสะดวก อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 701,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 230,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 14,557.50 บาท แก่จำเลยค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติ จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 100,000 บาท และจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 15109 ตำบลดำเนินสะดวก อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เป็นประกันหนี้โดยให้ถือหนังสือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน และจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และขอขึ้นเงินจำนองอีกจำนวน 130,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน และสำเนาบันทึกขึ้นเงินจำนองครั้งที่หนึ่งท้ายฟ้อง ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงให้นำหนี้เงินกู้ยืมทั้งสองครั้งจำนวน 230,000 บาท มารวมกับดอกเบี้ยที่ค้างชำระเป็นเวลา 13 ปี 8 เดือน เป็นต้นเงินกู้ยืมฉบับใหม่จำนวน 899,796 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และตกลงโอนสิทธิจำนองที่ให้ไว้เป็นประกันหนี้เดิมไปเป็นประกันหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 จำนวนเงินกู้ยืมส่วนที่เกิน 230,000 บาท เป็นดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้หรือไม่เพียงใด จำเลยฎีกาว่า โจทก์นำสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 มาหลอกลวงข่มขู่ให้จำเลยลงลายมือชื่อ จำเลยลงลายมือชื่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ข้ออ้างดังกล่าวนี้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ยกขึ้นอ้างในฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และจำเลยฎีกาต่อไปว่า การทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 เป็นการแปลงหนี้มาจากหนี้เงินกู้ยืมเดิม นับถึงวันแปลงหนี้ใหม่เป็นเวลาเกิน 10 ปี แล้ว โจทก์จึงบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 และเมื่อโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดดอกเบี้ยเป็นโมฆะ แต่จำเลยยอมรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงิน 230,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 5 ปี รวมเป็นเงิน 402,500 บาท โดยขอชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจำนวนดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า โจทก์กับจำเลยมีมูลหนี้เงินกู้ยืมต่อกันตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาจำนองและบันทึกขึ้นเงินจำนองครั้งที่หนึ่ง แม้หนี้ดังกล่าวขาดอายุความแล้ว แต่เมื่อโจทก์จำเลยยังมีหนี้เดิมต่อกันดังกล่าว หนังสือสัญญากู้ยืมที่แปลงหนี้มาก็ย่อมมีมูลหนี้ ดังนั้นโจทก์จำเลยจึงต้องผูกพันกันตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นหนี้ใหม่นั้น ส่วนหนี้เงินกู้ยืมเดิมตามหนังสือสัญญาจำนองและบันทึกขึ้นเงินจำนองครั้งที่หนึ่งตามเอกสารท้ายฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 สำหรับประกันของหนี้เดิมอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้คือจำนองในคดีนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงกันให้จำนองเป็นประกันหนี้รายใหม่ด้วย สัญญาจำนองจึงโอนไปเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมตามหนังสือสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 352 ดังนี้ เมื่อสัญญาจำนองเป็นการประกันหนี้เงินกู้ยืมตามหนังสือสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นหนี้รายใหม่และยังไม่ขาดอายุความ จึงไม่อาจนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 มาใช้บังคับได้ ส่วนดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 จำนวนเงินส่วนที่เกินจากต้นเงิน 230,000 บาท เป็นดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้นำมารวมเข้าเป็นต้นเงินกู้ยืม อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ แต่หนี้ต้นเงินจำนวน 230,000 บาท ยังคงสมบูรณ์หนังสือสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 ไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ เพราะพึงสันนิษฐานโดยพฤติการณ์แห่งกรณีได้ว่าโจทก์จำเลยเจตนาให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ทำให้หนี้ที่เกิดขึ้นตามหนังสือสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 ยกเลิกเสียเพราะมูลแห่งหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 351 ดังที่จำเลยฎีกา โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ในส่วนที่ชอบคือต้นเงิน 230,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันกู้ยืมตามหนังสือสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 ได้ แต่ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้สำหรับหมายเหตุด้านล่างของเอกสารดังกล่าวที่ระบุว่าคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ตกลงด้วย โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยคงต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 230,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246, 247 ทั้งนี้แม้จำเลยจะให้การยอมรับจะชำระเงินไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน 402,500 บาท แก่โจทก์ ซึ่งเกินจำนวนที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็บังคับให้ไม่ได้ และที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ต้องดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินให้จำเลยในจำนวนเงิน 402,500 บาท ตามฟ้องแย้งนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์น้อยกว่าจำนวนที่จำเลยอ้าง ดังนั้น หากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยแล้ว โจทก์ต้องจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินแก่จำเลยตามฟ้องแย้งฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในส่วนฟ้องของโจทก์จำนวน 322,207.15 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล 8,055 บาท และในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท แต่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 8,317 บาท ซึ่งเกินมา 62 บาท จึงต้องคืนส่วนที่เกินให้แก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 230,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และเมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนแล้ว ให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 15109 ตำบลดำเนินสะดวก อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี แก่จำเลย มิฉะนั้น ให้ถือเอาคำพิพากษานี้แทนการแสดงเจตนาของโจทก์หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินจำนวน 62 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share