แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ชายหมั้นและแต่งงานกับหญิงตามประเพณี โดยชายให้ของหมั้นและสินสอดแก่ฝ่ายหญิงจนได้อยู่กินด้วยกันแล้ว โดยชายเป็นฝ่ายผิดไม่ไปจดทะเบียนสมรส ต่อมาชายหญิงเลิกกัน ชายจะฟ้องเรียกของหมั้นและสินสอดคืนหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้สู่ขอจำเลยที่ 3 บุตรจำเลยที่ 1, 2 โดยตกลงให้ทองหมั้น 2 บาท สินสอด 5,000 บาท สินเดิม 1,000 บาทโจทก์และจำเลยที่ 3 ได้แต่งงานตามประเพณีโจทก์ได้มอบทองหมั้นสินสอด เงินสินเดิมไว้แก่ฝ่ายจำเลย โจทก์และจำเลยที่ 3 ได้อยู่กินที่บ้านจำเลยที่ 1, 2 จำเลยที่ 3 หลีกเลี้ยงไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรส ในที่สุดจำเลยที่ 3 ได้ทุบตีขับไล่โจทก์ โจทก์ต้องไปอาศัยอยู่กับบิดา การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาหมั้นและมีเหตุผลสำคัญอันเกิดแต่ฝ่ายจำเลยจึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนทองหมั้นราคา 960 บาท สินสอด 5,000 บาท เงินทุน 1,000 บาท กับข้าวที่โจทก์ทำมาหาได้ระหว่างอยู่กินกับจำเลย 5 เดือนราคา 5,000 บาท
จำเลยให้การว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น จำเลยเคยเตือนให้โจทก์ไปจดทะเบียนสมรสแต่โจทก์ก็เพิกเฉยเสีย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด โจทก์อาศัยอยู่กินกับจำเลยที่ 1, 2 และช่วยทำนาโจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งข้าว
ศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดไม่มีสิทธิเรียกสินสอดทองหมั้นคืน ส่วนเงินกองทุน 1,000 บาทนั้นเมื่อไม่ได้เป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย จำเลยก็ต้องคืนให้โจทก์ เรื่องข้าวเปลือกเห็นว่าเป็นเรื่องช่วยกันทำกินโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องข้าวรายนี้ได้พิพากษาให้จำเลยใช้เงินกองทุน 1,000 บาท ฟ้องข้ออื่นให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่ไปจดทะเบียนสมรสโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกสินสอดและทองหมั้นคืน ส่วนแบ่งข้าวนั้นฟังได้ว่าโจทก์ช่วยจำเลยที่ 1, 2 ทำนาอย่างเช่นบุตรช่วยบิดามารดาจึงไม่ใช่เจ้าของร่วม ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาส่วนแบ่งได้พิพากษายืน