คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9936/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทแต่ผู้เดียวตั้งแต่ซื้อมาจาก ท. ส่วนผู้ร้องมาลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยในภายหลังในฐานะคู่สมรส แสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท ยิ่งกว่านี้ปรากฏตามทะเบียนสมรสและสารบาญ จดทะเบียนท้ายสำเนาโฉนดที่ดินอันเป็น เอกสารมหาชนเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ก็ปรากฏว่าจำเลยซื้อทรัพย์พิพาทมาจาก ท. เป็นช่วงเวลาที่จำเลยและผู้ร้องยังเป็นสามีภริยากันอยู่ ทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) เมื่อหย่ากันตามคำพิพากษาต้องแบ่งทรัพย์สินที่จำเลยและผู้ร้องมีอยู่ ในวันฟ้องหย่าคนละส่วนเท่า ๆ กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1532(ข),1533 ส่วนบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทเป็นส่วนควบของที่ดิน จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาทย่อมมีกรรมสิทธิ์ร่วมในบ้านที่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทด้วย แม้จำเลยกับผู้ร้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยกที่ดินและบ้านซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทในส่วนของจำเลยให้แก่บุตรและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว แต่ก็มิได้มีการจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การยกให้จึงไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299ทรัพย์พิพาทส่วนที่ยกให้บุตรยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่ประกอบกับการที่ผู้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่มีการยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ต้องเป็นกรณีที่กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดอยู่ด้วย กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ที่ผู้ร้องจะขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยทรัพย์พิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระเงินจำนวน 420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามโฉนดเลขที่ 107185 พร้อมบ้านเลขที่ 370/54 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลย ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ทรัพย์ดังกล่าวเป็นของผู้ร้องกับบุตรมิใช่ทรัพย์ของจำเลยขอให้สั่งปล่อยทรัพย์ดังกล่าว
โจทก์ให้การว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดนั้นเป็นของจำเลยซื้อมาจากเจ้าของเดิมผู้ร้องมีชื่อในโฉนดภายหลังในฐานะเป็นคู่สมรส ผู้ร้องทราบว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ การที่ผู้ร้องฟ้องหย่าจำเลยและได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงจากการที่โจทก์จะบังคับชำระหนี้ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเดิมโจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระเงินตามเช็คที่จำเลยออกให้โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามโฉนดเลขที่ 107185 ตำบลสีกัน (บ้านใหม่) อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย ร.3ซึ่งมีชื่อจำเลยและผู้ร้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และบ้านเลขที่ 370/54 ที่ปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องกับบุตรมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์สินที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ในคดีนี้อันเป็นทรัพย์พิพาทแต่เพียงลำพังอันเป็นเหตุให้ต้องถอนการยึดทรัพย์ดังกล่าวหรือไม่ ผู้ร้องนำสืบว่าที่ดินตามเอกสารหมาย ร.3 และบ้านตามสำเนารายงานการยึดทรัพย์ของกรมบังคับคดีซึ่งโจทก์นำยึดเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องซื้อในระหว่างที่จำเลยและผู้ร้องเป็นสามีภริยากันโดยผู้ร้องชำระเงินสดจำนวน 200,000 บาท ส่วนที่เหลือ 500,000 บาทมอบให้จำเลยกู้เงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ มาชำระหนี้โดยการหักเงินเดือนของจำเลยเดือนละ 4,800 บาท เป็นระยะเวลา6 เดือน ตามเอกสารหมาย ร.9 หลังจากนั้นจำเลยลาออกจากงาน ผู้ร้องจึงต้องเป็นผู้ผ่อนชำระเงินกู้ต่อมาโดยตลอดตามเอกสารหมาย ร.10 และการกู้เงินในครั้งนี้ต้องนำทรัพย์พิพาทตามเอกสารหมาย ร.3 ไปจำนองเป็นประกันด้วยจึงได้ใส่ชื่อจำเลยไว้ในโฉนดที่ดินด้วย เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบมาผู้ร้องก็รับว่าจำเลยมีส่วนชำระค่าบ้านและที่ดินดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้มีข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 127 ว่าเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นของแท้จริงและถูกต้องเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน ต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารซึ่งเมื่อตรวจรายละเอียดตามสารบาญจดทะเบียนในโฉนดเอกสารหมาย ร.3 ปรากฏว่ามีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทมาตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2532ถึงปัจจุบัน ส่วนผู้ร้องมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2533 ซึ่งเป็นวันทำสัญญากู้และสัญญาจำนองตามเอกสารหมาย ร.6 และ ร.7 เป็นต้นมา เห็นได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทแต่ผู้เดียวมาตั้งแต่ซื้อมาจากนางทวีสุข มาลัย ส่วนผู้ร้องมาลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยในภายหลังในฐานะคู่สมรส แสดงว่าจำเลยมีเจตนาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท มิได้มีลักษณะเป็นการถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้องดังที่ผู้ร้องอ้างยิ่งกว่านี้ปรากฏตามทะเบียนการสมรสเอกสารหมาย ร.5 ว่าจำเลยและผู้ร้องสมรสกันเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2529 และตามสารบาญจดทะเบียนท้ายสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.3ก็ปรากฏว่าจำเลยซื้อทรัพย์พิพาทมาจากนางทวีสุข มาลัยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2532 อันเป็นช่วงเวลาที่จำเลยและผู้ร้องยังเป็นสามีภริยากันอยู่ ทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) เมื่อหย่ากันตามคำพิพากษาในวันที่ 17 มิถุนายน 2535 แล้ว ก็ต้องแบ่งทรัพย์พิพาทอันเป็นทรัพย์สินที่จำเลยและผู้ร้องมีอยู่ในวันฟ้องหย่าแก่จำเลยและผู้ร้องคนละส่วนเท่า ๆ กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1532(ข), 1533 แสดงว่าระหว่างจำเลยและผู้ร้องยังเป็นสามีภริยากันจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์พิพาทด้วยและหลังจากผู้ร้องหย่าขาดจากจำเลยแล้ว ทรัพย์พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยครึ่งหนึ่ง ที่ผู้ร้องอ้างในฎีกาว่าในช่วงที่ต้องหักเงินเดือนของจำเลยชำระหนี้ จำเลยจะมาเอาเงินที่ถูกหักจากผู้ร้องนั้นก็ปรากฏว่าผู้ร้องมีตนเองมาเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังสำหรับข้อที่ผู้ร้องนำสืบว่าผู้ร้องเป็นผู้ชำระหนี้ต่อธนาคารอาคารสงเคราะห์แต่ผู้เดียวตลอดมาหลังจากจำเลยออกจากงานนั้นมิใช่เป็นข้อพิสูจน์ว่าที่จำเลยมีชื่อปรากฏในโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.3 ว่า เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวเป็นการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนผู้ร้องส่วนบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทก็ต้องถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดินดังกล่าว ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาทย่อมมีกรรมสิทธิ์ร่วมในบ้านที่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทด้วย
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องฟ้องขอหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลย และจำเลยกับผู้ร้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยเป็นฝ่ายยอมยกที่ดินและบ้านซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทในส่วนของจำเลยแก่บุตรชายของจำเลยที่เกิดกับผู้ร้องและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้วตามเอกสารหมาย ร.12การยกให้จึงสมบูรณ์จำเลยไม่มีสิทธิในทรัพย์พิพาทอีกต่อไปนั้นเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ในมาตรา 1299 ว่า ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งทรัพย์พิพาทคือที่ดินและบ้านก็เป็นอสังหาริมทรัพย์ แม้จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกให้บุตรแต่ก็มิได้มีการจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำหรับการนั้น การยกให้ตามสัญญาดังกล่าวจึงไม่บริบูรณ์ตามกฎหมาย ทรัพย์พิพาทในส่วนของจำเลยที่ยกให้บุตรยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่ ประกอบกับการที่ผู้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่มีการยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288ต้องเป็นกรณีที่กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดอยู่ด้วย กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 288 ที่ผู้ร้องจะขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยทรัพย์พิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดไว้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้นชอบแล้วฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share