คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 993/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ให้การในชั้นตรวจสอบไต่สวนต่อเจ้าพนักงานประเมินรับรองว่าจะนำหลักฐานการขายรถยนต์ของตัวแทนโจทก์มามอบให้เจ้าพนักงานประเมินจนครบถ้วนแล้วโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำรับรองดังนี้ คำรับรองดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 และจะนำประมวลรัษฎากร มาตรา 21 มาใช้บังคับแก่โจทก์หาได้ไม่ โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินได้ บัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นที่เจ้าพนักงานประเมินต้องการจากโจทก์นั้น ผู้แทนจำหน่ายซึ่งเป็นบุคคลต่างหากจากโจทก์เป็นผู้จัดทำและเก็บรักษาและเอกสารดังกล่าวไม่มีที่โจทก์ ดังนั้นการที่โจทก์ไม่ส่งเอกสารดังกล่าวตามหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน ถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์การประเมิน คำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ลงชื่อกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันบริษัทโจทก์ไม่ครบถ้วนตามที่จดทะเบียนไว้ แต่เจ้าพนักงานของจำเลยก็ยอมรับโดยมิได้ท้วงติงและรับวินิจฉัยให้โจทก์ เมื่อโจทก์ยอมรับเอาคำอุทธรณ์นั้นโดยมิได้โต้แย้งจึงเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันคำอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่เสียไป จำเลยจะอ้างว่าคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ไม่ชอบและถือว่าโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์การประเมินจึงไม่มีอำนาจฟ้อง หาได้ไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1111 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดว่า ในการจดทะเบียนบริษัทนั้น ใบทะเบียนจะต้องมีข้อความตามที่ระบุไว้ในมาตรานี้ มิใช่เป็นแบบที่กฎหมายกำหนดเกี่ยวกับผู้มีอำนาจกระทำในนามนิติบุคคลแต่อย่างใด ดังนั้น แม้กรรมการผู้มีอำนาจกระทำในนามบริษัทโจทก์ลงชื่อในคำอุทธรณ์การประเมินไม่ครบถ้วนก็หาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 115 ไม่ เมื่อบริษัทโจทก์ให้สัตยาบันแล้ว คำอุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์จึงไม่เสียไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบการค้าประเภทประกอบรถยนต์แบบต่าง ๆเพื่อจำหน่าย โดยมีบริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายในการเสียภาษีการค้าโจทก์นำรายรับจากราคาของรถยนต์แต่ละชนิดคูณด้วยจำนวนคันของรถยนต์ชนิดนั้นแล้วนำผลลัพธ์ไปเสียภาษีการค้าจำเลยที่ 1 ที่ 2 แจ้งการประเมินภาษีการค้าให้โจทก์เสียเพิ่มรวมทั้งเบี้ยปรับ อ้างเหตุผลว่าบริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด ขายรถยนต์บางคันเกินกว่ามูลค่าที่โจทก์แจ้งไว้ต่อสรรพากรจังหวัด โจทก์ไม่เห็นด้วย เหตุที่ขายเกินราคาเพราะผู้ซื้อต้องการอุปกรณ์ตกแต่งนอกเหนือจากเครื่องมือประจำรถยนต์ตามปกติ เช่น ยางปูพื้นติดยางกันโคลน ติดเข็มขัดนิรภัย วิทยุและเครื่องเล่นเทป เป็นต้นราคาส่วนที่สูงขึ้นคือราคาของอุปกรณ์ดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นนั่นเองโจทก์จึงไม่ต้องรับภาระ โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีการค้าจึงไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ ขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ตัวแทนขายปลีกของโจทก์สำหรับรถยนต์บางรุ่นและบางคันเกินกว่าราคารถยนต์ที่โจทก์แจ้งไว้ต่อกรมสรรพากร โดยขายในราคาต่าง ๆ กัน ที่โจทก์ให้เหตุผลว่าราคาที่ขายสูงกว่าราคาที่แจ้งต่อกรมสรรพากรเพราะลูกค้าขอให้ตั้งอุปกรณ์พิเศษ ก็ปรากฏว่าหลังจากหักค่าอุปกรณ์พิเศษแล้ว ราคาก็ยังสูงกว่าราคาขายปลีกเงินสดที่โจทก์แจ้งไว้ เจ้าพนักงานจึงคำนวณมูลค่ารถยนต์ตามราคาถัวเฉลี่ยและประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่มรวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม คำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์มีกรรมการลงชื่อไม่ครบ ถือได้ว่าโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมิน จึงไม่มีอำนาจฟ้องการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ปรากฏตามหนังสือรับรองของการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.1 ประกอบกิจการค้าโดยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิขายให้บริษัทสิทธิผลมอเตอร์จำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ที่โจทก์ผลิตแต่เพียงผู้เดียวเพื่อนำไปขายให้แก่ผู้จำหน่ายรายย่อยหรือประชาชน โจทก์เป็นผู้กำหนดราคาตลาดขายปลีกเป็นเงินสด รถยนต์ที่โจทก์ผลิตให้บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด จำหน่าย และมีหน้าที่แจ้งราคาตลาดขายปลีกเป็นเงินสดรถยนต์ที่โจทก์กำหนดไว้แก่เจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้าเพื่อใช้คำนวณรายรับในการเสียภาษีการค้าของโจทก์ ในปี พ.ศ. 2519โจทก์กำหนดราคาตลาดขายปลีกเป็นเงินสดสำหรับรถยนต์นั่งโคลท์ แลนเซอร์ แบบเอ 72 อีที ราคาคันละ 121,000 บาท และโคลท์ แลนเซอร์ แบบเอ 72 เอ็นที ราคาคันละ 135,000 บาท และได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้าแล้วปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 8 หรือเอกสารหมาย ล.3 โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีการค้าในฐานะผู้ผลิตรถยนต์นั่งทั้งสองแบบดังกล่าวสำหรับรายรับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2519 ไว้แล้วโดยคำนวณรายรับจากราคาตลาดขายปลีกของรถยนต์แต่ละชนิดซึ่งโจทก์ได้แจ้งแก่เจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวข้างต้นคูณด้วยจำนวนคันของรถยนต์แต่ละชนิดที่ขายไป แต่ปรากฏในปี พ.ศ. 2519 บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด ได้ขายปลีกรถยนต์นั่งที่โจทก์ผลิตทั้งสองแบบบางคันไปในราคาสูงกว่าที่โจทก์แจ้งราคาตลาดขายปลีกเป็นเงินสดไว้ต่อเจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้า ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.9แผ่นที่ 4 ถึงแผ่นที่ 7 และเอกสารหมาย ล.10 เจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีของจำเลยที่ 1 ตรวจพบจึงออกหมายเรียกโจทก์มาเพื่อตรวจสอบไต่สวนปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 โจทก์มอบอำนาจให้นายศุภชัย ชะวะนะเวชผู้จัดการแผนกธุรการทั่วไปของโจทก์ไปให้การและดำเนินการต่าง ๆในการเรียกตรวจสอบภาษี ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 และหาหลักฐานการขายรถยนต์ของบริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด ไปมอบให้เจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีของจำเลยที่ 1 ได้บางส่วน เจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีของจำเลยที่ 1 จึงประเมินด้วยวิธีหาค่าราคาถัวเฉลี่ยของรถยนต์นั่งที่บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด ขายเกินราคา โดยนำเอาราคารถยนต์ที่ขายเกินราคาในเดือนหนึ่งมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวนคันของรถยนต์ที่ขายเกินราคาในเดือนนั้น ผลลัพธ์ที่ได้เป็นราคาถัวเฉลี่ยที่ขายเกินราคาแล้วนำมาคูณด้วยจำนวนคันของรถยนต์ที่บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด ขายไปทั้งหมดในเดือนนั้น ผลลัพธ์ที่ได้เป็นยอดรายรับนำไปคำนวณภาษีการค้าที่โจทก์จะต้องเสียในเดือนนั้นซึ่งมีจำนวนสูงกว่าที่โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าไว้แล้ว ด้วยวิธีการคำนวณดังกล่าวตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม2519 จึงประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่มเติม ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.5 โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.14 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการถูกต้องและชอบแล้ว แต่ให้ลดเบี้ยปรับลง คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 30 ให้โจทก์เสียภาษีทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,149,815.89 บาท ปรากฏตามเอกสารหมายจ.5 หรือ ล.13 โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง
ฯลฯ
อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ข้อสองที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นจำเลยทั้งสี่ได้อุทธรณ์แยกออกเป็น 2 ประการ ประการแรกอุทธรณ์ว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินโดยไม่จัดส่งหลักฐานทางบัญชีและพยานหลักฐานอื่นไปแสดงให้ตรวจสอบโจทก์จึงเป็นผู้ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลนั้น เห็นว่า ตามคำนางนงนิตย์ ห้องสินหลาก พยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ตรวจสอบไต่สวนและประเมินภาษีการค้าของโจทก์ได้เบิกความว่า กองภาษีการค้าได้เคยออกหมายเรียกให้โจทก์นำหลักฐานมาตรวจสอบ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 แต่โจทก์ไม่สามารถส่งเอกสารมาให้ตรวจสอบได้ เมื่อพิเคราะห์เอกสารหมาย ล.2 ซึ่งเป็นหมายเรียกตามประมวลรัษฎากรที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ส่งเอกสารหมายเรียกดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าในหมายเรียกเอกสารหมาย ล.2 ข้อ (2) ระบุเพียงว่า “ให้ท่านนำสมุดบัญชีเงินสดบัญชีซื้อ-ขาย บัญชีแยกประเภท… พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชีดังกล่าวสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2516-2517ไปมอบให้เจ้าพนักงานตรวจสอบด้วย” จะเห็นได้ชัดว่าตามหมายเรียกมิได้ให้โจทก์นำสมุดบัญชีเงินสด… พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2519 ไปมอบให้เจ้าพนักงานตรวจสอบแต่อย่างไร ทั้งเอกสารต่าง ๆ ที่จำเลยอ้างส่งเป็นพยานต่อศาลก็ไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งของเจ้าพนักงานตรวจสอบหรือเจ้าพนักงานประเมินสั่งให้โจทก์นำเอกสารหรือหลักฐานในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2519ไปมอบให้พนักงานตรวจสอบ คงมีแต่คำให้การของนายศุภชัย ชะวะนะเวชผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ในชั้นตรวจสอบตามเอกสารหมาย ล.18 แผ่นที่ 9ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2522 ที่ให้การไว้ว่า ข้าพเจ้าจะนำหลักฐานการขายรถยนต์ของตัวแทนสำหรับปี 2519 มามอบให้ตรวจสอบจนครบถ้วนภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2522 การที่นายศุภชัยรับรองกับเจ้าพนักงานตรวจสอบดังกล่าวก็ยังถือไม่ได้ว่า เป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานตรวจสอบหรือเจ้าพนักงานประเมิน ถ้าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกเอกสารหมาย ล.2 หรือตามที่นายศุภชัยรับรองไว้ดังกล่าวก็จะนำประมวลรัษฎากร มาตรา 21 มาใช้บังคับแก่โจทก์ไม่ได้ อีกประการหนึ่งตามคำเบิกความและคำให้การชั้นตรวจสอบของนายศุภชัยเอกสารหมายล.16 ได้ความ โจทก์เป็นผู้ผลิตรถยนต์ขายให้บริษัทสิทธิผลมอเตอร์จำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายรถที่โจทก์ผลิต เมื่อโจทก์ส่งรถยนต์ให้บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด โจทก์จะออก ดี/โอ ไว้เป็นหลักฐานและลงบัญชีคุมสินค้าไว้เพียงอย่างเดียว ดี/โอ จะแจ้งว่าได้ส่งรถยนต์ไปกี่คัน โมเดิลอะไรบ้าง ไม่มีการลงหลักฐานอื่นแต่อย่างใดเมื่อวันสิ้นเดือนของแต่ละเดือน บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัดจะแจ้งให้โจทก์ทราบว่า บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด ขายรถยนต์ได้กี่คัน โมเดิลอะไรบ้าง โจทก์จึงจะออกอินวอยซ์ตามที่บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด แจ้งมา และลงบัญชีขาย ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จากนั้นโจทก์ก็นำเอาจำนวนคันของรถยนต์ที่บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด ขายได้และแจ้งมาดังกล่าว คูณราคาขายปลีกเป็นเงินสดที่โจทก์แจ้งต่อเจ้าพนักงานสรรพากรจังหวัดไว้ผลลัพธ์ที่ได้เป็นรายรับที่โจทก์นำไปคำนวณเสียภาษีการค้า เห็นได้ชัดว่าบัญชีและเอกสารหลักฐานการขายปลีกรถยนต์ซึ่งทางเจ้าพนักงานตรวจสอบและประเมินต้องการ บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลต่างหากจากโจทก์เป็นผู้จัดทำและเก็บรักษานางสาวสมจิตโรจน์รุ่งสัตย์ และนางนงนิตย์เจ้าพนักงานตรวจสอบและเจ้าพนักงานประเมินได้เบิกความเจือสมว่า การตรวจสอบภาษีการค้าเรื่องนี้จะต้องตรวจสอบจากบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการขายปลีกรถยนต์ซึ่งบัญชีและเอกสารดังกล่าวโจทก์ไม่มี เพราะโจทก์ไม่ใช่เป็นผู้ขายปลีกบริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด เป็นผู้ขายปลีก บัญชีและเอกสารดังกล่าวจึงอยู่ที่บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด ดังนั้นจึงไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องส่งเอกสารหลักฐานของบุคคลอื่นตามหมายเรียกและนางนงนิตย์เจ้าพนักงานตรวจสอบและประเมินก็ทราบดี จึงได้ไปขอตรวจสอบหลักฐานของบริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด ที่กองตรวจสอบกรมสรรพากรจำเลยที่ 1 เพราะขณะนั้นกองตรวจสอบได้หมายเรียกเอกสารหลักฐานจากบริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด มาตรวจสอบอยู่แต่อย่างไรก็ดีโจทก์เองก็ยังพยายามนำหลักฐานการขายปลีกรถยนต์บางส่วน เช่น ใบเสร็จรับเงินขายรถยนต์ที่บริษัทสิทธิผลมอเตอร์จำกัด ออกให้ลูกค้าจำนวน 4 เล่ม ไปมอบให้เจ้าพนักงานตรวจสอบและประเมิน ดังนี้ จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์การประเมินส่วนประการที่สองที่ว่า คำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ที่ลงชื่อกรรมการเพียงคนเดียว กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันบริษัทลงชื่อไม่ครบถ้วนตามที่จดทะเบียนไว้ จะถือว่าโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ตอนโจทก์มอบอำนาจให้นายศุภชัยผู้จัดการฝ่ายธุรการทั่วไปของโจทก์ไปให้การชั้นตรวจสอบไต่สวนต่อเจ้าพนักงานตรวจสอบไต่สวนของจำเลยที่ 1 แทนโจทก์ตามหมายเรียกโจทก์ทำใบมอบอำนาจโดยนายปริญญา ลี้อิสสระนุกูล ซึ่งเป็นรองประธานบริษัทโจทก์ในขณะนั้นแต่ผู้เดียวลงชื่อเป็นผู้มอบอำนาจในนามของโจทก์ และประทับตราสำคัญของโจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมายล.1 ให้นายศุภชัยไปยื่นต่อเจ้าพนักงานตรวจสอบของจำเลยที่ 1เจ้าพนักงานตรวจสอบของจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับโดยมิได้ท้วงติงแต่ประการใด และดำเนินการไต่สวนนายศุภชัยในฐานะตัวแทนของโจทก์ตลอดมา แสดงว่าใบมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.1 ของโจทก์ เป็นที่ยอมรับของเจ้าพนักงานตรวจสอบของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์เป็นผู้มอบอำนาจให้นายศุภชัยมาแทนโจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ก็ลงชื่อนายปริญญา ลี้อิสสระนุกูล กรรมการผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียวและประทับตราสำคัญของโจทก์เช่นเดียวกัน แม้กรรมการลงชื่อไม่ครบตามคำขอจดทะเบียนไว้ และเมื่อโจทก์ยอมรับเอาคำอุทธรณ์นั้นโดยมิได้โต้แย้งจึงเท่ากับเป็นการให้สัตยาบัน คำอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่เสียไปทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้รับอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ไว้พิจารณาและวินิจฉัยให้แล้วจะมาอ้างว่าคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ไม่ชอบถือว่าโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์การประเมินไม่มีอำนาจฟ้อง หาได้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า การกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลต้องมีกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อให้ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วนเป็นการไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1111(6) และตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 115 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1111 เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดว่าในการจดทะเบียนบริษัทนั้น ใบทะเบียนจะต้องมีข้อความตามที่ระบุไว้ในมาตรานี้ มิใช่เป็นแบบที่กฎหมายกำหนดเกี่ยวกับผู้มีอำนาจกระทำในนามของนิติบุคคล ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่จำเลยทั้งสี่อ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่จึงฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share