แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 115 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยเมทแอมเฟตามีนจำนวน 115 เม็ด ดังกล่าว คำนวณสารบริสุทธิ์ได้ 3.116 กรัม เมื่อปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 15 เม็ด ที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 115 เม็ด ที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่าย ดังนั้น จึงย่อมสามารถคำนวณหาสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 15 เม็ด โดยคำนวณเทียบกับปริมาณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 115 เม็ด ซึ่งคำนวณแล้ว เป็นสารบริสุทธิ์ 0.406 กรัม ซึ่งเกินกว่าสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม แต่ไม่ถึงยี่สิบกรัม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งตามมาตรา 100/1 บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำคุกจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ลงปรับด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่อาจพิพากษาลงโทษปรับจำเลยได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปีและปรับ 800,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท รวมจำคุก 15 ปี และปรับ 1,200,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและ ชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 คงจำคุก 10 ปี และปรับ 800,000 บาทไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง,วรรคสอง สำหรับความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นรวมจำคุก 14 ปี และปรับ 800,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 คงจำคุก 9 ปี 4 เดือน และปรับ 533,333.33 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจร่วมกันจับกุมจำเลยโดยกล่าวหาว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 115 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 15 เม็ด ให้แก่สายลับไปในราคา 2,250 บาท สำหรับความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 4 ปี เป็นการพิพากษาแก้วรรคในบทเดิมและแก้โทษ โดยที่อัตราโทษและลักษณะความผิดของ มาตรา 66 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ดังกล่าวมิได้แตกต่างกันมาก จึงเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้รับฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 100 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องนั้น เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกบรรจบและจ่าสิบตำรวจวิสิฐ พยานโจทก์เบิกความว่า ขณะเข้าจับกุมจำเลย จำเลยให้การรับว่าเป็นเจ้าของร้านที่เกิดเหตุและจำเลยเป็นผู้นำตรวจค้นภายในร้าน ผลการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 100 เม็ด บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกสีฟ้าแบบรูดปิดเปิดด้านบนซุกซ่อนอยู่ในลิ้นชักตู้เสื้อผ้าภายในร้าน บริเวณหลังร้าน โดยจำเลยรับว่าเป็นของจำเลยซึ่งซื้อมาจากนายกิติพงษ์หรืออ๊อด ซึ่งเป็นคู่เขยกับจำเลยในราคาเม็ดละ 110 บาท และนำมาจำหน่ายในราคาเม็ดละ 150 บาท ซึ่งเป็นการที่จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นร้านที่เกิดเหตุด้วยตนเองและให้การในทันทีขณะถูกจับกุมโดยไม่มีเวลาคิดไตร่ตรองเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง จึงเชื่อว่าจำเลยได้ให้การตามความเป็นจริง ประกอบกับไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสองเคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนและเป็นการเข้าจับกุมตรวจค้นเนื่องจากสืบทราบมาก่อนว่าที่ร้านเกิดเหตุมีการลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจนกระทั่งมีการวางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนและจับกุมจำเลยได้ อันเป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ปกติของพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ จึงไม่มีเหตุทำให้ระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสองจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย เมื่อปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนจำนวน 100 เม็ด ของกลาง ตรวจค้นพบในลิ้นชักตู้เสื้อผ้าที่อยู่ในร้านที่จำเลยพักอาศัยอยู่และจำเลยยังให้การถึงการได้มาของเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวโดยละเอียดด้วย จึงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางดังกล่าวเป็นของจำเลยซึ่งมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง
อนึ่ง คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 115 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยเมทแอมเฟตามีนจำนวน 115 เม็ด ดังกล่าว คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3.116 กรัม เมื่อปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 15 เม็ด ที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 115 เม็ด ที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่าย ดังนั้น จึงย่อมสามารถคำนวณหาสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 15 เม็ด โดยคำนวณเทียบกับปริมาณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 115 เม็ด ซึ่งคำนวณแล้วปรากฏว่ามีสารบริสุทธิ์ 0.406 กรัม ซึ่งเกินกว่าสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม แต่ไม่ถึงยี่สิบกรัม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งตามมาตรา 100/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและโทษปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอโดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำคุกจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ปรับด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษปรับได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7