แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีบุกรุกในทางอาญา ซึ่งมิได้พิพาทกันในเรื่องสิทธิในที่พิพาทโดยตรง และในที่สุดศาลเห็นว่าเป็นเรื่องเถียงสิทธิที่พิพาทในทางแพ่งขาดเจตนาบุกรุก ลงโทษไม่ได้ เช่นนี้ จึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 มาใช้บังคับในคดีแพ่งซึ่งต่อมาได้มีการฟ้องร้องกันเกี่ยวกับสิทธิในที่พิพาทนั้น ย่อมไม่ได้.
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยเรียกนางลายเป็นโจทก์นายสีเป็นจำเลยที่ ๑
คดีแรก โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ บุกรุกเข้าไปไถที่นาของโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ จ้างหรือใช้หรือวานให้ทำ โจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน อัยการฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงวันที่ ๕ ว่าบุกรุกในทางอาญาแต่ศาลเห็นว่าไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงฟ้องคดีนี้ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่นา ให้ขับไล่จำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
ก่อนยื่นคำให้การ โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๕ เข้าไปไถนาพิพาทโดยเข้าใจว่าเป็นนาของจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ไม่ได้บุกรุกเข้าไปไถนาพิพาท
ในวันชี้สองสถาน จำเลยที่ ๑ ร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต
คดีหลัง จำเลยที่ ๑ กลับเป็นโจทก์ฟ้องนางลายเป็นจำเลยว่า โจทก์ยืมเงินนายวงษ์สามีจำเลย โจทกืมอบนาให้จำเลยกัยสามีทำต่างดอกเบี้ย โจทก์นำเงินไปชำระหนี้ให้จำเลยแล้วขอนาคืน จำเลยไม่ยอม ขอให้บังคับจำเลยรับเงินแล้วคืนที่พิพาทให้โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อ ๑๓ ปีมานี้ โจทก์มาเอาเงินกับสิ่งของอื่นรวม ๑,๐๐๐ บาทได้มอบที่พิพาทให้นายวงษ์สามีจำเลย นายวงษ์กับจำเลยได้ครอบครองต่อมา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง ให้โจทก์รับเงินค่าไถ่ แล้วคืนที่พิพาทให้จำเลยที่ ๑
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีเหตุผลน่าเชื่อว่า จำเลยที่ ๑ ได้สละนาพิพาทด้วยการมอบให้เป็นสิทธิแก่นายวงษ์กับโจทก์โดยเด็ดขาดเพื่อการชำระหนี้ ไม่ใช่เพื่อให้ทำกินต่างดอกเบี้ยนายวงษ์กับโจทก์จึงได้สิทธิการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ
ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๙๙๘/๒๕๐๖ ของศาลจังหวัดศรีสะเกษฟังว่า นาพิพาทเป็นของนายวันบิดาจำเลยที่ ๑ มอบให้โจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ย ฉะนั้น คดีนี้ศาลจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามคดีอาญานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีอาญาดังกล่าวแล้วเป็นปัญหาเรื่องบุกรุกในทางอาญา มิได้พิพาทกันในเรื่องสิทธิในนาพิพาทโดยตรงและในที่สุดศาลเห็นว่าเป็นเรื่องเถียงสิทธินาพิพาทในทางแพ่ง ขาดเจตนาลงโทษไม่ได้ ฉะนั้นจึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ มาใช้บังคับในคดีนี้ไม่ได้
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีชอบแล้ว
พิพากษายืน.