แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ฟ้องคดีอ้างว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม เป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งไม่มีรายละเอียดขั้นตอนว่าคำสั่งลงโทษลูกจ้างหรือเลิกจ้างลูกจ้างนั้น นายจ้างจะต้องตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนหรือการสอบสวนข้อเท็จจริงจะต้องทำให้เสร็จภายในกำหนด 150 วัน แม้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน หรือจะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 150 วัน และจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้อง และตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวให้ถือว่าพนักงานผู้นั้นพ้นจากข้อกล่าวหา ก็เป็นเรื่องพ้นจากข้อกล่าวหาในการสอบสวนครั้งนั้นเท่านั้น มิได้หมายความว่าโจทก์มิได้กระทำผิดอันจะมีผลกระทบถึงการพิจารณาคดีของศาล
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งนิติกร 5 มีหน้าที่ฟ้องร้องลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 โจทก์เบิกเงินยืมทดรองจ่ายจากจำเลยที่ 1 เป็นค่าขึ้นศาลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี แต่โจทก์ไม่ฟ้องคดี โจทก์จึงต้องคืนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 การที่โจทก์ไม่คืนเงิน โดยนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวจึงเป็นการทุจริตและกระทำผิดระเบียบวินัยร้ายแรง นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 19 กันยายน 2545 โจทก์หยุดงานรวม 66.5 วัน โดยอ้างว่าป่วย โจทก์มีสิทธิลาป่วยปีละไม่เกิน 30 วัน โจทก์จึงลาป่วยเกินกำหนดหรือระเบียบ 36.5 วัน อันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยที่ 4 มีเจตนาค้ำประกันโจทก์ในการที่โจทก์สมัครเข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 และยินยอมค้ำประกันโจทก์ไม่ว่าโจทก์จะทำงานกับจำเลยที่ 1 ในหน้าที่หรือตำแหน่งงานใด จึงเป็นการทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้มีการประกันได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงาน และต่อมาโจทก์ได้ก่อความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกัน
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์และจำเลยในสำนวนแรกว่า โจทก์ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ เรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ และเรียกจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 4
โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า วันที่ 1 เมษายน 2535 จำเลยทั้งสามจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ว่าคดีเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติกร มีหน้าที่ว่าต่างแก้ต่างให้แก่จำเลยทั้งสามและดำเนินการในฐานะทนายความของจำเลยที่ 1 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,100 บาท ค่าอาหารเดือนละ 1,800 บาท เงินโบนัสปีละ 5 เดือน เงินสมทบส่วนของจำเลยที่ 1 เดือนละ 700 บาท รวมเดือนละ 12,600 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน วันที่ 26 เมษายน 2545 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งที่ 32/2545 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีพนักงานฝ่ายนิติกร กล่าวหาว่าโจทก์ติดค้างเงินยืมทดรองจ่ายในการดำเนินคดีแล้วไม่คืนภายในกำหนด ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2545 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งที่ บ.550/2545 เลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ และขาดงานโดยไม่มีใบรับรองแพทย์อันเป็นการกลั่นแกล้งกล่าวหาเพื่อไม่ให้โจทก์สามารถทำงานกับจำเลยที่ 1 ต่อไปได้ คำสั่งเลิกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับสภาพการจ้างของจำเลยที่ 1 ทั้งเมื่อรวมระยะเวลาตั้งแต่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจนถึงวันมีคำสั่งลงโทษ 153 วัน เกินกำหนด 150 วัน ถือว่าโจทก์พ้นข้อกล่าวหา ส่วนเหตุที่อ้างว่าโจทก์หยุดงานรวม 66.5 วัน โดยไม่มีใบลาและใบรับรองแพทย์อันเป็นความเท็จนั้น โจทก์ออกไปปฏิบัติงานตามศาลใช้ใบออกนอกสถานที่แทนการลงลายมือชื่อบันทึกเวลาการทำงาน และตามคำสั่งที่ 32/2545 ไม่ปรากฏข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเวลาการทำงานของโจทก์ โจทก์จึงไม่สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงได้ ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 วันที่ 21 มกราคม 2546 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติให้ยกอุทธรณ์และยืนตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำละเมิดต่อวิชาชีพของโจทก์ และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือไม่น้อยกว่าเดิม หรือจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน เป็นเงิน 10,100 บาท เงินโบนัส 25,700 บาท และเงินสะสมเลี้ยงชีพในส่วนของจำเลยที่ 1 จำนวน 79,225 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จ่ายค่าจ้างที่ค้างสำหรับเดือนกันยายน 2545 เป็นเงิน 11,900 บาท และเงินเพิ่มร้อยละ 15 ของเงินค้างจ่ายทุกระยะ 7 วัน นับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2545 จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 4,358 บาท และค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 60,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จ่ายค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดต่อวิชาชีพของโจทก์เป็นเงิน 5,510,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 5,510,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ บ.550/2545 และคำสั่งที่ ก.พ.198/2546 ลงวันที่ 21 มกราคม 2546 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 สำนวนแรกให้การว่า โจทก์มีหน้าที่ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ลูกหนี้ตามที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย ซึ่งจำเลยที่ 1 จะอนุมัติเงินยืมทดรองจ่ายให้แก่โจทก์เป็นค่าฤชาธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามที่โจทก์ขออนุมัติ และเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้วจะต้องนำใบเสร็จค่าฤชาธรรมเนียมศาลและรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเสนอต่อจำเลยที่ 1 ตามระเบียบและคำสั่งของจำเลยที่ 1 ภายใน 7 วัน นับจากวันที่ปฏิบัติงานแล้วเสร็จ แต่ในช่วงระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2543 ถึงวันที่14 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์ได้เบิกเงินยืมทดรองจ่ายไปรวม 5 รายการ เป็นเงิน 75,050 บาท โจทก์ไม่ดำเนินการฟ้องร้องลูกหนี้ต่อศาลและไม่นำค่าธรรมเนียมไปวางศาลตามคำสั่ง และไม่คืนเงินดังกล่าวตามระเบียบ ผู้บังคับบัญชาได้ว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจาและเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่โจทก์ไม่สามารถคืนเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ ฝ่ายนิติการจึงแจ้งเรื่องให้ฝ่ายการพนักงานเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนการผิดวินัยของโจทก์ วันที่ 26 เมษายน 2545 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้วได้สรุปผลการสอบข้อเท็จจริงต่อประธานคณะกรรมการวินัย คณะกรรมการวินัยมีความเห็นว่าโจทก์ทุจริตนำเงินของจำเลยที่ 1 ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ประกอบกับโจทก์หยุดงานบ่อยอ้างว่าป่วยโดยไม่มีใบลาและใบรับรองแพทย์ ซึ่งจากสถิติตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 19 กันยายน 2545 โจทก์ได้ลาป่วยรวม 66.5 วัน เกินสิทธิตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ถึง 36.5 วัน ซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามระเบียบที่กำหนดให้ลาป่วยได้ปีหนึ่งไม่เกิน 30 วัน และการลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไปต้องมีใบรับรองแพทย์ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดระเบียบวินัยร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงมีมติไล่โจทก์ออกโดยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ ยกเว้นเงินสะสมในส่วนของพนักงาน และให้โจทก์คืนเงินยืม 75,050 บาท แก่จำเลยที่ 1 ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2545 ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์มีมติเห็นชอบยืนตาม คำสั่งเลิกจ้างโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายมิได้เป็นการกลั่นแกล้งหรือเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อการกระทำของโจทก์เป็นความผิดอาญา จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถนำระเบียบในเรื่องระยะเวลาดังกล่าวมาใช้กับกรณีของโจทก์ได้ ประกอบกับในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกในข้อหาหมิ่นประมาทตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6303/2546 ของศาลแขวงดุสิต มีคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า นับตั้งแต่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจนถึงขั้นมีการสรุปการสอบสวนในวันที่ 10 กันยายน 2545 ยังไม่เกิน 150 วัน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนกันยายน 2545 แก่โจทก์ และเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินสะสมกองทุนเลี้ยงชีพในส่วนของจำเลยที่ 1 ค่าชดเชยและค่าเสียหายตามที่โจทก์ฟ้อง ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินส่วน เงินโบนัสไม่อยู่ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและปัจจุบันจำเลยที่ 1 ก็มิได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างแล้ว แต่จะจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือซึ่งขึ้นอยู่กับผลประกอบการและจะให้แก่ลูกจ้างที่อยู่ปฏิบัติงานจนถึงวันที่มีการพิจารณาจ่าย ซึ่งในวันที่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างไม่มีการจ่ายเงินช่วยเหลือแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนได้ปีละ 13 วัน แต่มิได้ใช้สิทธิ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 สำนวนหลังฟ้องว่า จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างวันที่ 1 เมษายน 2535 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ว่าคดี 4 ส่วนคดี 1 ฝ่ายนิติการ มีหน้าที่ดำเนินคดีแก่ลูกหนี้ตามที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย มีจำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ในการปฏิบัติหน้าที่ฐานะทนายความของโจทก์ โจทก์เบิกเงินยืมทดรองจ่ายไปจากจำเลยที่ 1 แต่ต่อมาโจทก์ไม่ต้องนำเงินค่าใช้จ่ายไปใช้และต้องส่งเงินคืนเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ส่งคืน และค้างเงินยืมทดรองจ่ายระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2543 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 รวม 5 รายการ เป็นเงิน 75,050 บาท ผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจาและเป็นหนังสือให้โจทก์คืนเงินดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงโจทก์เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2545 คณะกรรมการวินัยพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่นำเงินของจำเลยที่ 1 ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของโจทก์ถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบวินัยร้ายแรง จึงมีมติไล่โจทก์ออกและเสนอต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งที่ บ.550/2545 ลงวันที่ 25 กันยายน 2545 ให้ไล่โจทก์ออก โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมีมติเห็นชอบยืนตาม โจทก์ยังมิได้ชำระเงิน 75,050 บาท ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ประกอบกับโจทก์มีพฤติกรรมหยุดงานบ่อยอ้างว่าลาป่วยโดยไม่มีใบลาและใบรับรองแพทย์ จากสถิติการลาป่วยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 19 กันยายน 2545 รวม 66.5 วัน เกินสิทธิตามระเบียบ 36.5 วัน ซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ถือเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดในวงเงิน 50,000 บาท จำเลยที่ 1 ทวงถามแล้วโจทก์และจำเลยที่ 4 เพิกเฉย ขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 75,050 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับโจทก์ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์สำนวนหลังให้การว่า ข้อตกลงระหว่างฝ่ายนิติการของจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นการเหมาจ่ายค่าจ้างแต่ละคดี 4,500 บาท ถึง 7,000 บาท จึงเป็นสัญญาจ้างทำของ มิได้เกิดจากข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน หนี้ดังกล่าวเกิดจากมูลละเมิดจำเลยที่ 1 รู้ถึงเหตุและรู้ตัวผู้ทำละเมิดตั้งวันที่ 25 กันยายน 2545 แต่มิได้ฟ้องภายในวันที่ 25 กันยายน 2546 คดีจึงขาดอายุความ โจทก์มิได้ติดค้างเงินยืมทดรองจ่าย 75,050 บาท และการกระทำของโจทก์มิได้เป็นความผิดอาญา เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 ถึง 11 จำเลยที่ 1 ทำขึ้นเองเป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 โอนหนี้ที่โจทก์และจำเลยที่ 4 มีต่อจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ไปแล้วโดยชอบ จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันการเข้าทำงานของโจทก์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2535 ในฐานะเป็นพนักงานทดลองงานเท่านั้น มิใช่ในตำแหน่งทนายความ และโจทก์เริ่มเข้าทดลองงานวันที่ 1 เมษายน 2535 ซึ่งความเสียหายยังไม่เกิดขึ้นจึงยังไม่มีหนี้ต่อกัน จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงิน 50,000 บาท มูลหนี้เงินยืมทดรองจ่ายตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2543 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2544 เป็นสัญญาจ้างทำของ จำเลยที่ 1 มิได้ฟ้องภายในกำหนด 2 ปี คดีจึงขาดอายุความและไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแรงงาน ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์สำนวนแรกขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และโจทก์สละประเด็นในส่วนคำฟ้องและคำขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 ที่ บ.550/2545 และคำสั่งที่ ก.พ.198/2546 ลงวันที่ 21 มกราคม 2546 เรื่องแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ และสำนวนหลังสละประเด็นในส่วนคำให้การที่ว่าข้อตกลงระหว่างฝ่ายนิติการของจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสัญญาจ้างทำของ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยที่ 4 สละประเด็นในส่วนคำให้การที่ว่าข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์เกิดจากสัญญาจ้างทำของ และที่ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาและพิพากษาของศาลแรงงานกลางหรือไม่ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์จ่ายเงิน 75,050 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 กับให้จำเลยที่ 4 รับผิดชดใช้หนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ในวงเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 โดยตรงและทันทีที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 4 ทราบโดยไม่ต้องทวงถามจากโจทก์ก่อน และให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า วันที่ 1 เมษายน 2535 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นนิติกร 5 ส่วนคดีทนายความนอกฝ่ายนิติการ มีหน้าที่ฟ้องร้องลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,100 บาท เงินช่วยค่าอาหารเดือนละ 1,800 บาท เงินสมทบส่วนของจำเลยที่ 1 เดือนละ 700 บาท โจทก์เบิกเงินยืมทดรองจ่ายเป็นค่าขึ้นศาลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและยังไม่ได้คืนเงินดังกล่าวจำนวน 75,050 บาท แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโจทก์เมื่อวันที่ 26 มกราคม (ที่ถูกเมษายน) 2545 และจำเลยที่ 1 มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2545 โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่าผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 1 เบิกความว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ถือระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับกำหนดเวลาการส่งใช้เงินยืมทดรองจ่ายตามเอกสารหมาย ล.13 ข้อ 4.1.1 และ 4.1.2 ตลอดมา ซึ่งตามเอกสารหมาย ล.13 ข้อ 4.1.5 วรรคสอง ระบุว่า หากไม่ส่งใช้เงินยืมทดรองจ่ายตามที่กำหนดหรือเวลาผ่อนผัน ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ยืมเงินทดรองจ่ายแจ้งผู้จัดการฝ่ายการพนักงานเพื่อพิจารณาหักเงินเดือนและเงินช่วยเหลือพิเศษส่งคืนเงินยืมทดรองจ่ายภายในเวลาอันสมควรแล้วแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นทราบ และตามเอกสารหมาย ล.15 ปรากฏยอดค้างเงินยืมทดรองจ่ายของฝ่ายนิติการ 13 ล้านบาทเศษ ประกอบกับนางเจนกมล พนักงานของจำเลยที่ 1 เบิกความว่าทนายความที่ติดค้างเงินยืมทดรองจ่ายเกินกว่า 15 วัน มีหลายคน แต่ต่อมาก็สามารถเคลียร์ได้ ยกเว้นโจทก์ซึ่งไม่มาเคลียร์ ซึ่งมิได้ถือว่าพนักงานผู้นั้นประพฤติชั่วโกงหรือไม่ซื่อตรง และเหตุที่โจทก์ยังไม่เคลียร์เงินยืมทดรองจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่จ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ให้การต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ล.23 แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การติดค้างเงินยืมทดรองจ่ายของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ผิดระเบียบวินัยร้ายแรงจึงคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ฟ้องคดีลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าขึ้นศาลที่โจทก์ยืมทดรองจ่ายไปให้แก่จำเลยที่ 1 ที่โจทก์อ้างว่ามีรายได้จากสำนวนต่างๆ ประมาณ 50 สำนวน เพื่อนำมาหักกลบลบหนี้กับค่าขึ้นศาล โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์เบิกเงินยืมทดรองจ่ายจากจำเลยที่ 1 แล้วไม่คืนเงินให้จำเลยที่ 1 จำนวน 75,050 บาท โดยนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวเป็นการทุจริตและกระทำผิดระเบียบวินัยร้ายแรง ดังนั้นที่โจทก์อุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์มิได้นำเงินยืมทดรองจ่ายของจำเลยที่ 1 ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ไม่เป็นการทุจริต จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยที่ 1 ขัดต่อระเบียบข้อบังคับและข้อตกลงสภาพการจ้างเอกสารหมาย ล.25 ในเรื่องกำหนดระยเวลาการสอบข้อเท็จจริงจนถึงวันที่มีคำสั่งลงโทษพนักงานซึ่งระบุว่าจะต้องแล้วเสร็จภายใน 150 วัน หากครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จให้ถือว่าพนักงานผู้นั้นพ้นข้อกล่าวหา คดีนี้จำเลยที่ 1 มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2545 และมีคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากการเป็นพนักงานเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2545 รวมระยะเวลา 153 วัน ถือว่าโจทก์พ้นข้อกล่าวหา คำสั่งเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ชอบเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีอ้างว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมนั้น เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่มีรายละเอียดขั้นตอนว่าคำสั่งลงโทษลูกจ้างหรือเลิกจ้างลูกจ้างนั้น นายจ้างจะต้องตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนหรือการสอบสวนข้อเท็จจริงจะต้องทำให้เสร็จภายในกำหนด 150 วัน การพิจารณาว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ โดยทั่วไปต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่เป็นสำคัญ หากข้อเท็จจริงที่นำสืบในชั้นพิจารณาฟังได้ว่า ลูกจ้างกระทำผิดข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงจริง นายจ้างก็มีสิทธิที่จะเลิกจ้างได้และไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน หรือจะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 150 วัน และจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้องก็ตาม ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวให้ถือว่าพนักงานผู้นั้นพ้นจากข้อกล่าวหาก็เป็นเรื่องพ้นจากข้อกล่าวหาในการสอบสวนครั้งนั้นเท่านั้น มิได้หมายความว่าโจทก์มิได้กระทำผิดอันจะมีผลกระทบถึงการพิจารณาคดีของศาลแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งนิติกร 5 มีหน้าที่ฟ้องร้องลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 โจทก์เบิกเงินยืมทดรองจ่ายจากจำเลยที่ 1 เป็นค่าขึ้นศาลและค่าใช่จ่ายในการดำเนินคดี แต่ต่อมาโจทก์ไม่ฟ้องคดี โจทก์จึงต้องคืนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่คืนเงินจำนวน 75,050 บาท โดยนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นการทุจริตและกระทำผิดระเบียบวินัยร้ายแรง นอกจากนี้ยังได้ความอีกว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 19 กันยายน 2545 โจทก์หยุดงานรวม 66.5 วัน โดยอ้างว่าป่วย โจทก์มีสิทธิลาป่วยปีละไม่เกิน 30 วัน โจทก์จึงลาป่วยเกินกำหนดหรือระเบียบ 36.5 วัน อันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล.5 หรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยที่ 4 อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางแปลความหมายในสัญญาค้ำประกันให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 (ที่ถูก โจทก์) เสมือนเป็นลูกหนี้ร่วม เกินกว่าเจตนาในการเข้าทำสัญญา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้จำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันโจทก์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2535 จำเลยที่ 1 กับโจทก์ยังไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้างลูกจ้าง โจทก์เพิ่งมาสมัครทดลองงานกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535 นิติกรรมอันเป็นหนี้ประธานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่เกิด สัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ก็ไม่อาจมีได้ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย ล.5 เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้วว่า ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล.5 ไม่มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 4 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับโจทก์จึงไม่ถือว่าจำเลยที่ 4 เป็นลูกหนี้ร่วมกับโจทก์ และตามคำพิพากษาไม่ได้พิพากษาให้มีผลต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม แต่การที่จำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะรับโจทก์เข้าทำงานนั้นปรากฏตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล.5 ข้อ 2 ระบุว่า ถ้าธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ได้รับนายเกษมเข้าทำงานในธนาคารไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงานใดๆ แล้ว หากปรากฏว่านายเกษมปฏิบัติงานบกพร่องต่อหน้าที่หรือประมาทเลินเล่อหรือกระทำการทุจริตหรือก่อหนี้สินผูกพันกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด อันทำให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ได้รับความเสียหายในกรณีหนึ่งกรณีใดที่กล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้านายทวีปยอมรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด โดยตรงและทันทีทุกกรณี เมื่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบ โดยที่ธนาคารไม่ต้องเรียกร้องทวงถามเอาจากผู้สมัครก่อน ในจำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาท และข้อ 3 ระบุว่าสัญญาค้ำประกันนี้ข้าพเจ้าตกลงให้คงอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่นายเกษมยังคงทำงานอยู่กับธนาคาร… ตามสัญญาค้ำประกันแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 มีเจตนาค้ำประกันโจทก์ในการที่โจทก์สมัครเข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 ในครั้งนี้ และยินยอมค้ำประกันโจทก์ไม่ว่าโจทก์จะทำงานกับจำเลยที่ 1 ในหน้าที่หรือตำแหน่งงานใด จึงเป็นการทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้มีการประกันได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงาน และต่อมาโจทก์ได้ก่อความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกัน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน