คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์อยู่ร่วมเรือนเดียวกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน บุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1เคยเห็นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นอนร่วมเตียงเดียวกัน จำเลยที่ 2เคยไปบ้านของมารดาจำเลยที่ 1 พร้อมกับจำเลยที่ 1 ในวันเทศกาล สำคัญเช่น วันปีใหม่ และวันสงกรานต์ มีพฤติการณ์เป็นที่ประจักษ์ทั่วไปว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวต่อกัน การกระทำของจำเลยที่ 2ดังกล่าวจึงเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในทำนองชู้สาว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แม้โจทก์จะได้ทราบถึงความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวของจำเลยทั้งสองตั้งแต่กลางปี 2525 ก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวยังเกิดขึ้นอยู่ต่อมามิได้หยุดการกระทำและสิ้นไปจนถึงปี 2528 ฉะนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนภายในปี 2528 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ทำงานที่บริษัทเดียวกันกับจำเลยที่ 1เมื่อประมาณกลางปี 2525 มีคนบอกโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ไปติดพันจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ยังไม่แน่ใจจนกระทั่งเมื่อประมาณต้นปี 2528 โจทก์ติดตามไปพบจำเลยที่ 1 อยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองแต่งกายลักษณะอยู่กับบ้านบ่งบอกถึงการเป็นสามีภรรยากัน จำเลยที่ 1ขู่เข็ญให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่า แต่โจทก์ไม่ยอม จำเลยที่ 1 จึงหาเหตุฟ้องหย่ากับโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผิดหน้าที่ต่อโจทก์ และการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการแสดงออกถึงการมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงและสถานภาพทางสังคมขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงินจำนวน 200,000บาท และให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองรู้จักกันในฐานะเพื่อนร่วมงาน ไม่เคยประพฤติหรือแสดงว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวค่าทดแทนที่โจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสองสูงเกินสมควร คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 50,000บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2แสดงตนโดยเปิดเผยว่า มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในทำนองชู้สาวหรือไม่นั้น โจทก์นำสืบพยานถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ว่าเป็นไปในทำนองชู้สาว… ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2มีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกันจริง คงมีข้อพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ 2 แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1ในทำนองชู้สาวต่อบุคคลภายนอกหรือไม่ ในปัญหานี้แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแสดงออกถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่การแสดงตนที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 2 แม้โจทก์จะมิได้เบิกความถึงในข้อนี้โดยตรงแต่ก็ปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ที่กล่าวถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 โดยนางพันธุ์ทิพย์วัฒนศิริ ซึ่งอยู่ในละแวกนั้นเบิกความว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ไปไหนมาไหนด้วยกัน เด็กชายพสุ ตินติลีปิกร บุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นอนร่วมเตียงเดียวกันและจำเลยที่ 2 เคยไปบ้านของมารดาจำเลยที่ 1 พร้อมกับจำเลยที่ 1 ในวันเทศกาลสำคัญ เช่น วันปีใหม่ และวันสงกรานต์ เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่ร่วมเรือนเดียวกัน และมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างเปิดเผย โดยเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปว่าบุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวต่อกันดังที่จำเลยที่ 2 เองก็รับว่า โจทก์เคยไปพบบิดาของจำเลยที่ 2 ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ไปบ้านของจำเลยที่ 2 คดีจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนจำนวนค่าทดแทนที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดหรือไม่นั้น จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่เสียหาย และศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าทดแทนสูงเกินสมควร พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 แสดงตนแก่บุคคลทั่วไปว่า ตนมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1ในทำนองชู้สาว จึงเป็นเรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรมอยู่ในตัว และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นภรรยาจำเลยที่ 1 โดยตรงอยู่แล้วทั้งในข้อนี้โจทก์นำสืบให้เห็นว่า โจทก์มีสถานะทางสังคมที่ดีเมื่อมีพฤติการณ์นี้เกิดขึ้นผู้บังคับบัญชาของโจทก์มีทัศนะต่อโจทก์ในทางไม่ดี ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความราบรื่นในชีวิตสมรสของโจทก์ และความผาสุกในครอบครัว ซึ่งต้องถูกกระทบกระเทือนอย่างมากอยู่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง สำหรับจำนวนค่าทดแทนเป็นจำนวนเท่าใดนั้น เห็นว่า ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนตามควรแห่งพฤติการณ์และสถานะของคู่สมรสประกอบกัน ที่ศาลล่างทั้งสองได้กำหนดค่าทดแทนเป็นจำนวน 50,000 บาท เป็นจำนวนค่าทดแทนที่สมควรแก่รูปเรื่องแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์เป็นอย่างอื่น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ ในปัญหานี้แม้จะปรากฏตามคำฟ้องว่า โจทก์ได้ทราบถึงความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวของจำเลยทั้งสองตั้งแต่กลางปี 2525 ก็ตาม แต่คำฟ้องนั้นเองก็อ้างว่าความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปี 2528 ในชั้นนำสืบ พยานหลักฐานของโจทก์ก็ยืนยันถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองในทำนองชู้สาวยังเกิดขึ้นอยู่ต่อมามิได้หยุดการกระทำและสิ้นไป ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนภายในปี 2528 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share