แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) ในอัตราร้อยละ 2 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย โจทก์อุทธรณ์การประเมินยอมรับว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 จริง ขอให้พิจารณาลดหย่อนภาษีเท่านั้น ดังนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิ ฟ้องว่าการประเมินเรียกเก็บภาษีของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้องและขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งได้ยุติไปแล้ว
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล กรมสรรพากร ได้มีหนังสือถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.6 แจ้งว่า โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2515 จึงได้ประเมินภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) ในอัตราร้อยละ 2 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ คิดเป็นจำนวนเงินภาษีที่โจทก์จะต้องชำระเพิ่มเป็นเงิน 25,506 บาท 42 สตางค์ และให้โจทก์ไปชำระเงินค่าภาษีดังกล่าว ณ ที่ทำการเขตพระนคร โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยกล่าวในอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 จริง โดยโจทก์ขอรับผิดและให้พิจารณาลดหย่อนภาษีให้โจทก์ตามสมควร ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.8 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อันมีจำเลยทั้งสามเป็นกรรมการได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้ววินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 โจทก์จึงได้อุทธรณ์เป็นคดีนี้ต่อศาลอ้างว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 ไว้แล้ว การประเมินเรียกเก็บภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ถูกต้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีคงมีปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้นได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลกรมสรรพากรแจ้งว่าโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2515 จึงได้ประเมินภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 71(1) ในอัตราร้อยละ 2 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ คิดเป็นจำนวนเงินภาษีที่โจทก์จะต้องชำระเพิ่มเป็นเงิน 25,506 บาท 42 สตางค์ให้โจทก์ชำระเงินค่าภาษีจำนวนดังกล่าว ในอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย ล.8 ปรากฏว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านว่าความจริงโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2515 ไว้โดยชอบแล้ว และมิได้อุทธรณ์คัดค้านว่าที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2515 อัตราร้อยละ 2 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรนั้นไม่ถูกต้องอย่างไรแต่ประการใด กลับยอมรับในอุทธรณ์นั้นว่า โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 จริง โดยโจทก์ขอรับผิดและขอให้พิจารณาลดหย่อนภาษีให้โจทก์ตามสมควรเท่านั้นศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ยอมรับในอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 จริง โดยขอรับผิดและขอลดหย่อนภาษีให้โจทก์ตามสมควรเท่านั้นแล้ว ก็ต้องถือว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินได้เรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโจทก์ในอัตราร้อยละ 2 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 นั้นเป็นการถูกต้องแล้วโดยเฉพาะปัญหาที่ว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 ซึ่งโจทก์ยอมรับว่าเป็นจริงแล้วนั้น ต้องถือว่าได้ยุติไปแล้ว ดังนั้นโจทก์จะรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นอุทธรณ์ต่อศาลว่า การประเมินเรียกเก็บภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นการไม่ถูกต้องโดยอ้างว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 ไว้แล้วอีกหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในเรื่องนี้”
พิพากษายืน