แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ขายรถยนต์สินสมรสให้แก่บุคคลอื่นโดยที่จำเลยซึ่งเป็นภริยาไม่ทราบ และได้ระบุในบันทึกคำแจ้งความเรื่องขอโอนและขอรับโอนทะเบียนรถยนต์ว่า โจทก์เป็นโสด มีเหตุให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์ขายรถยนต์เพื่อประโยชน์ของโจทก์เพียงฝ่ายเดียวการที่โจทก์แจ้งว่าเป็นโสดเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จำเลยย่อมมีสิทธิรักษาประโยชน์ของตนเองได้ การที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าโจทก์แจ้งความต่อนายทะเบียนยานพาหนะอันเป็นเท็จดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิตามที่มีกฎหมายให้อำนาจเพื่อปกปักและรักษาประโยชน์ในทรัพย์สินของตนตามปกติ จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงที่จะถือว่าเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3) จำเลยเข้าใจว่าเหตุที่ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยถูกยึดในคดีที่ พ.ฟ้องโจทก์ให้ชำระเงินตามเช็คเป็นผลมาจากการกลั่นแกล้งของโจทก์โดยความร่วมมือของ พ.ซึ่งไม่มีหนี้สินต่อกัน ที่จำเลยฟ้องคดีอาญากล่าวหาโจทก์และ พ.ว่าร่วมกันแสดงพยานหลักฐานในคดีดังกล่าวอันเป็นเท็จ จึงเป็นการกระทำที่จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า จำเลยมีสิทธิกระทำได้เพื่อป้องกันส่วนได้เสียและปกป้องทรัพย์สินที่จำเลยมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของไม่เป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาที่ศาลแขวงพระนครเหนือในข้อหาแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ซึ่งพฤติการณ์ที่จำเลยฟ้องโจทก์นั้นไม่มีมูลความจริง ต่อมาจำเลยได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน กล่าวหาโจทก์ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานว่า โจทก์แจ้งความต่อนายทะเบียนยานพาหนะว่าโจทก์เป็นโสดในการขายรถยนต์แก่ผู้อื่น และพฤติการณ์ดังกล่าวโจทก์มิได้กระทำผิดตามที่จำเลยกล่าวหา การกระทำของจำเลยทั้งสองกรณีเป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกศาลและเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัว อันเป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง ขอให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยในการจดทะเบียนหย่าต่อเจ้าพนักงาน
จำเลยให้การว่า ที่จำเลยฟ้องโจทก์และนางพยุรี สรสุชาติเป็นจำเลยในข้อหาแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพราะว่าโจทก์และนางพยุรี ซึ่งเป็นพี่สาวโจทก์ได้สมคบกันฉ้อฉลและแสดงเจตนาลวง โดยให้โจทก์สั่งจ่ายเช็คให้แก่นางพยุรี ทั้งที่บุคคลทั้งสองไม่มีหนี้สินต่อกันและนางพยุรีฟ้องโจทก์เพื่อเรียกเงินตามเช็คดังกล่าว ต่อมาก็ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน หลังจากนั้นนางพยุรีได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย คือที่ดินโฉนดเลขที่ 72202และ 72203 พร้อมบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวและทรัพย์สินในบ้าน เป็นการละเมิดต่อจำเลยจำเลยจึงจำเป็นต้องป้องกันสิทธิด้วยการฟ้องโจทก์และนางพยุรี ส่วนที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินก็เพราะโจทก์ได้โอนขายรถยนต์อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยและโจทก์ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานว่าเป็นโสด โดยได้ลงลายมือชื่อรับรองข้อความดังกล่าวในเอกสารการโอนด้วย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจำเป็นต้องใช้สิทธิตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาในประการแรกว่า จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับโจทก์ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน เป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงและเป็นเหตุหย่านั้น ในข้อนี้ได้ความว่า โจทก์และจำเลยได้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2521ภายหลังจากที่สมรสกันแล้ว รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสที่โจทก์จำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน การที่โจทก์ได้ขายรถยนต์ให้แก่บุคคลอื่นโดยที่จำเลยไม่ทราบ และได้ระบุในบันทึกคำแจ้งความเรื่องขอโอนและขอรับโอนทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย ล.5 ว่า โจทก์เป็นโสด มีเหตุให้จำเลยเชื่อว่า โจทก์ขายรถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรสเพื่อประโยชน์ของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว การที่โจทก์แจ้งสถานะของโจทก์ว่าเป็นโสดซึ่งมีความหมายว่า โจทก์ไม่มีคู่สมรส เช่นนี้จึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จำเลยย่อมมีสิทธิรักษาประโยชน์ของตนเองได้ ดังจะเห็นว่า จำเลยได้พยายามดำเนินการที่จะให้ได้รับรถยนต์คันนี้กลับมาเป็นส่วนของตน ด้วยวิธีการยื่นคำฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนรถยนต์คันดังกล่าว มีรายละเอียดตามคำฟ้องเอกสารหมายจ.3 นอกเหนือจากการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ดังนั้น การแจ้งความของจำเลยดังที่โจทก์อ้างเป็นเหตุหย่า จึงเป็นการใช้สิทธิตามที่มีกฎหมายให้อำนาจ เพื่อปกปักและรักษาประโยชน์ในทรัพย์สินของตนตามปกติ ส่วนผลของการแจ้งความจะเป็นประการใดนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่ง และไม่เป็นการตัดสิทธิของจำเลยที่จะเลือกแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าว การแจ้งความของจำเลยจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงที่จะถือว่าเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) คำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างมา ไม่อาจปรับกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาในข้อต่อไปว่า จำเลยฟ้องโจทก์และนางพยุรีสรสุชาติเป็นจำเลยคดีอาญา ในข้อหาร่วมกันแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงและเป็นเหตุหย่านั้น ในข้อนี้ แม้โจทก์จะอ้างในฎีกาว่าผลของคดีศาลพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดไปแล้วก็ตาม แต่มูลเหตุที่จำเลยดำเนินคดีกับโจทก์และนางพยุรี มีเหตุที่สมควรทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่า หนี้สินที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่นางพยุรีผู้เป็นพี่สาวของโจทก์เอง มียอดจำนวนหนี้ถึง 700,000 บาท โดยที่โจทก์และจำเลยต่างประกอบอาชีพมีรายได้ที่แน่นอนเป็นจำนวนมากพอสมควรไม่น่าจะเป็นหนี้สินที่โจทก์ต้องชำระให้แก่นางพยุรีเป็นจำนวนมากดังกล่าว จึงเป็นหนี้ที่สมยอมกันเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยให้ต้องถูกบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำเลยเป็นเจ้าของรวม ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากนางพยุรีฟ้องคดีเรียกเงินตามเช็คจากโจทก์แล้วในชั้นบังคับคดีต่อมา ได้มีการนำยึดที่ดิน 2 แปลงพร้อมบ้านเลขที่ 68/12 ที่ปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และจำเลยร่วมกัน ในคำให้การของจำเลยก็ระบุว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านหลังนี้ จากพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดีดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าจำเลยต้องเข้าใจว่า การถูกยึดทรัพย์เป็นผลมาจากการกลั่นแกล้งของโจทก์โดยความร่วมมือของนางพยุรีดังนั้น ที่จำเลยฟ้องคดีอาญากล่าวหาโจทก์และนางพยุรีว่าร่วมกันแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ จึงเป็นการกระทำที่จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า จำเลยมีสิทธิกระทำได้ เพื่อป้องกันส่วนได้เสียและปกป้องทรัพย์สินของจำเลย ที่จำเลยมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรณีเช่นนี้ หาใช่เป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) ไม่ เช่นเดียวกับฎีกาในข้อแรกของโจทก์ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน