แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พินัยกรรมที่ทำเป็นเอกสารลับนั้น ผู้ทำจะต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกซองแล้วและพยานไปแสดงต่อกรมการอำเภอ จะให้กรมการอำเภอมาทำนอกที่ว่าการอำเภออย่างพินัยกรรมฝ่ายเมืองดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1659 ไม่ได้
เมื่อพินัยกรรมที่ทำอย่างเอกสารลับจะไม่สมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดา ตามมาตรา 1656 แล้ว ก็เป็นอันใช้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทายาทโดยธรรมของนางแย้ม พังงา ตามบัญชีเครือญาติท้ายฟ้อง นางแย้มถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2496มีทรัพย์เป็นมรดก คือ สวน 2 แปลง ราคา 6,000 บาท นา 1 แปลงราคา 6,000 บาท รวมเป็นราคา 12,000 บาท เมื่อนางแย้มถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ได้ร้องขอรับมรดกต่ออำเภอสวี จำเลยคัดค้านว่านางแย้มได้ทำพินัยกรรมลงวันที่ 31 ตุลาคม 2496 ยกทรัพย์มรดกให้แก่เด็กหญิงสุดา บุตรีจำเลยทั้งหมด ทั้งนี้โดยจำเลยกับพวกสมคบกับทำพินัยกรรมนั้นขึ้นโดยทุจริต เพราะในระหว่างเวลานั้น นางแย้มเป็นคนหลงไหลฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ พินัยกรรมที่ทำขึ้นจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 31 ตุลาคม 2496 และแบ่งมรดกให้แก่โจทก์โดยวิธีประมูล หรือขายทอดตลาด แล้วแบ่งให้โจทก์ 1 ใน 6 ส่วน ราคาประมาณ 2,000 บาท
จำเลยให้การต่อสู้ว่า นางแย้ม พังงา ถึงแก่กรรมแล้ว และมีทรัพย์เป็นมรดกตามโจทก์อ้างจริง แต่ทรัพย์มรดกทั้งหมดนี้ นางแย้มได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่เด็กหญิงสุดา บุตรีจำเลย เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นสมบูรณ์ตามกฎหมายเมื่อนางแย้มตายแล้ว จำเลยได้ปกครองทรัพย์มรดกของนางแย้มในฐานะมารดาผู้ปกครองเด็กหญิงสุดาตลอดมาจนบัดนี้โดยนายชัด พังงา บิดาเด็กหญิงสุดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พินัยกรรมฉบับที่ทำใหม่ (ตามที่โจทก์ระบุในฟ้อง) นี้ นางแย้มทำในขณะมีสติไม่สมบูรณ์และผิดแบบพินัยกรรมเอกสารลับ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ฉะนั้นพินัยกรรมฉบับนี้จึงตกเป็นโมฆะ พิพากษาว่า พินัยกรรมซึ่งจำเลยอ้างและส่งศาลใช้บังคับไม่ได้ตามกฎหมาย ให้จำเลยซึ่งครอบครองทรัพย์มรดกของนางแย้มอยู่ในเวลานี้จัดแบ่งให้โจทก์ 1 ใน 6 ส่วน ตามที่โจทก์ขอถ้าการแบ่งไม่สามารถจะทำได้ก็ให้เอาทรัพย์มรดกทั้งหมดขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้โจทก์ 1 ใน 6 ส่วน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย 100 บาท แทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าฝ่ายโจทก์ ฟังว่า ขณะทำพินัยกรรม นางแย้มมีสติดีไม่หลงไหลฟั่นเฟือนประการใด พูดจารู้เรื่อง ทั้งนางแย้มก็อยู่กินกับจำเลยมานาน เหตุผลแสดงว่า นางแย้มคงเต็มใจยกทรัพย์ที่คงเหลืออยู่ให้แก่บุตรจำเลยยิ่งกว่าลูกหลานคนอื่น ๆ ซึ่งมิได้เลี้ยงดูนางแย้มพินัยกรรมที่จำเลยอ้างส่งศาลเขียนด้วยหมึก ลงวัน เดือน ปี ผู้ทำพินัยกรรมได้ลงพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าพยานไม่น้อยกว่า 2 คนพยานเหล่านั้นได้เซ็นชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น แม้จะไม่สมบูรณ์เป็นเอกสารลับตามแบบในมาตรา 1660 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะผู้ทำพินัยกรรมมิได้ผนึกใส่ซองเองแต่ก็ย่อมสมบูรณ์ตามแบบพินัยกรรมที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1656 จึงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำชี้ขาดของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นจึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมและค่าทนาย 2 ศาล เป็นเงิน 175 บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงการณ์และประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความรับกันว่า บัญชีเครือญาติท้ายฟ้องโจทก์ถูกต้องที่สวนและนารายพิพาทเป็นของนางแย้มผู้ตายซึ่งเป็นยายโจทก์นางแย้มผู้ตายถึงแก่กรรมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2496 มีอายุได้ 83 หรือ 84 ปี
คงมีประเด็นข้อโต้เถียงกันข้อเดียวว่า นางแย้มผู้ตายได้ทำพินัยกรรมดังที่จำเลยอ้าง ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2496 ยกทรัพย์รายพิพาทให้แก่เด็กหญิงสุดา บุตรีจำเลยหลานผู้ตายจริงหรือไม่ โดยโจทก์เถียงว่าพินัยกรรมที่จำเลยอ้าง จำเลยสมคบกันทำขึ้นโดยเจตนาทุจริตไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อเท็จจริงได้ความที่โจทก์จำเลยนำสืบด้วยว่า นางแย้มตายที่บ้านเรือนของนางแย้ม ซึ่งจำเลยผู้เป็นภริยานายชัดบุตรผู้ตายอยู่ร่วมเรือนเดียวกันมา หรือนัยหนึ่งผู้ตายตายขณะที่อยู่กับจำเลยในขณะนั้นนายชัด สามีจำเลยไปต้องโทษอยู่ จำเลยกับนายชัดมีบุตรด้วยกันรวมทั้งเด็กหญิงสุดาด้วย 4 คนด้วยกัน แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์นำสืบว่า เมื่อก่อนหน้านางแย้มตายสัก 1 เดือน นางแย้มสติหลงไหล เห็นโจทก์มาเยี่ยมก็ทักว่าเป็นสามี ซึ่งความจริงสามีตายไปแล้ว ขณะนั้นมือขวาและเท้าขวานางแย้มกระดุกกระดิกไม่ได้ และกินนอนอยู่ที่ร้านเพิงหน้าบันไดเรือน ถ่ายอุจจาระปัสสาวะเลอะเทอะไม่นุ่งผ้าโดยไม่รู้สึกตัว ก่อนตายราว 8-9 วัน จำเลยได้ย้ายเอาเข้าไปอยู่ในเรือน ตอนนี้ได้แต่ครางพูดไม่ได้ นายนามแพทย์ตำบลมารักษาว่าเป็นโรคอ่อนเพลียตามประสาคนแก่ พูดไม่ได้ความเมื่อตอนขึ้นอยู่บนเรือนแล้วไม่ค่อยนุ่งผ้า พูดไม่ได้เรื่องเสื้อผ้าเหม็นอุจจาระปัสสาวะ ตอนบ่ายวันที่ 31 ตุลาคม 2496 นายน้อมผู้เป็นหลานชงนมให้กินก็ไม่กินและนอนเฉยอยู่ไม่พูดจา
จำเลยนำสืบว่า จำเลยอยู่กินกับนายชัดบุตรนางแย้มที่บ้านเรือนนางแย้มมา 16, 17 ปี มีบุตรสี่คนด้วยกัน และอยู่มาจนนางแย้มตายเมื่อ พ.ศ. 2495 นางแย้มได้ทำพินัยกรรมไว้ครั้งหนึ่งยกสวนและนาพิพาทให้เด็กหญิงสุดา ซึ่งนายจันทร์เป็นคนเขียน และนายเพียร นางอิ่ม นายเชิ้มเป็นพยาน ต่อมาจำเลยนำคำร้องของนางแย้มยื่นต่ออำเภอ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2496 ว่า นางแย้มทำพินัยกรรมลับไว้ขอให้นายอำเภอไปจดทะเบียนให้ นายไมตรี ปลัดอำเภอ พยานจำเลยจึงได้ออกไปจัดการเพื่อจดทะเบียนให้ในวันที่ 31 ตุลาคม 2496แต่พยานในพินัยกรรมเก่าไม่มาจดทะเบียนไม่ได้ จึงได้มีการเขียนพินัยกรรมใหม่ ตามฉบับเก่าที่ทำไว้เมื่อ พ.ศ. 2495 โดยนายจ้วนกำนันตำบลนาโพธิ์เป็นคนเขียนคัดขึ้นใหม่ เสร็จแล้วอ่านให้นางแย้มฟังแล้วให้นางแย้มลงพิมพิ์ลายนิ้วมือไว้ มีนางอิ่มคนที่เคยเป็นพยานในพินัยกรรมเก่านางลอยเป็นพยาน กับมีนายจ้วนกำนันผู้เขียนเป็นพยานแล้วมอบพินัยกรรมให้นายไมตรี ๆ เอาใส่ซองจัดการบันทึกให้นางแย้มพิมพิ์ลายนิ้วมือทับรอยผนึกซอง และให้นางอิ่มนางลอยลงนามเป็นพยานไว้ที่ซองอีกด้วยแล้วนายไมตรีนำพินัยกรรมนั้นไปเก็บรักษาไว้ที่อำเภอขณะทำพินัยกรรมนั้น นางแย้มมีสติดีพูดจากันรู้เรื่อง พยานจำเลยที่นำสืบมีตัวจำเลยนางอิ่ม นางลอย นายไมตรี ปลัดอำเภอ ส่วนนายจ้วนกำนันผู้เขียนพินัยกรรมจำเลยก็อ้างไว้แต่ไม่ติดใจสืบ
ได้พิจารณาคำพยานทั้งสองฝ่ายตลอดแล้วเห็นว่า ในข้อว่าขณะที่นางแย้มผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับรายพิพาทไว้ นางแย้มมีสติดีต้องการทำพินัยกรรมจริงหรือไม่นั้น โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่านางแย้มเป็นคนหลงไหลสติฟั่นเฟือนไม่สมประกอบดังที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง คงมีแต่พยานรู้เห็นว่าก่อนตาย 8-9 วัน นางแย้มพูดจาไม่ได้หรือพูดไม่ได้เรื่อง ฝ่ายจำเลยมีพยานประกอบกันหลายปากว่า นางแย้มมีสติดี และทำพินัยกรรมฉบับรายพิพาทไว้จริง ทั้งเหตุผลก็ส่อให้น่าเชื่อว่า นางแย้มตั้งใจทำพินัยกรรมยกทรัพย์รายพิพาทให้แก่เด็กหญิงสุดา เพราะเป็นหลานและอยู่บ้านเรือนเดียวกันพ่อก็ไปต้องโทษอยู่ ผู้ตายได้รับความอุปการะจากจำเลยผู้เป็นมารดาเด็กหญิงสุดามาจนถึงแก่กรรม ทั้งเมื่อ พ.ศ. 2495 ผู้ตายก็ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์รายพิพาทให้เด็กหญิงสุดาหลานคนนี้ไว้คราวหนึ่งแล้วและในการทำพินัยกรรมครั้งหลังนี้ตามความมุ่งหมายจะให้เป็นเอกสารลับเพราะป่วยออด ๆ แอด ๆ จึงขอให้กรมการอำเภอไปทำให้ ตามมาตรา 1660 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบังคับให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกซองและลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกซอง ต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกซองแล้วและพยานไปแสดงต่อกรมการอำเภอ ฯลฯ เหล่านี้ ไม่มีบทมาตราใดผ่อนผันให้กรมการอำเภอมาทำนอกที่ว่าการอำเภออย่างพินัยกรรมฝ่ายเมืองดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1659 ได้ แม้พินัยกรรมรายพิพาทจะกระทำขึ้นไม่ถูกต้องตามตัวบทที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ดี แต่ก็เป็นอันเห็นได้ชัดว่า พินัยกรรมรายพิพาทได้ทำขึ้นถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาตามความในมาตรา 1656 แล้วเป็นอันใช้ได้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 1077/2494 คดีระหว่างนางสาวน้าว ดีโท กับพวกโจทก์ นางเพิ่ม ห่วงมี กับพวกจำเลย เป็นบรรทัดฐานอยู่แล้ว ฎีกาโจทก์เป็นอันฟังไม่ขึ้น
เหตุนี้จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์เสีย ให้โจทก์ใช้ค่าทนายในชั้นฎีกาเป็นเงิน 75 บาท แทนจำเลย