แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยสั่งพักงานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเพื่อรอคดีอาญาที่โจทก์ ต้องหาว่าลักทรัพย์ของนายจ้างจนกว่าคดีถึงที่สุดเป็นการให้ลูกจ้าง หยุดงานเป็นการชั่วคราวสภาพการเป็นนายจ้างลูกจ้างยังคงมีอยู่ต่อไป ไม่ใช่เป็นกรณีจำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปโดยเด็ดขาดเพราะเมื่อคดีถึงที่สุดหากโจทก์ไม่มีความผิดจำเลยก็ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานเสมือนว่าไม่เคยเลิกจ้างและต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานให้โจทก์เพราะการที่โจทก์ไม่ได้ทำงานนั้นเนื่องมาจากฝ่ายจำเลยเองไม่มอบงานให้ทำ การสั่งพักงานโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยได้ให้โจทก์พักงานเพื่อลงโทษโดยไม่ได้รับค่าจ้าง จนกว่าการพิจารณาคดีอาญาที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่าร่วมลักทรัพย์ของจำเลยจะถึงที่สุดโจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะลงโทษโจทก์โดยการให้พักงาน เมื่อโจทก์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วขอกลับเข้าทำงาน แต่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำงานและไม่จ่ายค่าจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 59,075.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์กับพวกได้ร่วมกันลักรองเท้ากีฬายี่ห้อรีบอค 2 คู่ ราคา 5,000 บาท ไปจากโรงงานจำเลยเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้พร้อมของกลาง คดีอยู่ระหว่างพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการฟ้องศาลต่อไปจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ เพียงแต่พักงานโจทก์เพื่อรอฟังผลคดีอาญา ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน โจทก์แถลงรับว่าได้รับเงินค่าจ้างค้างจ่ายและเงินโบนัสตามฟ้องจากจำเลยเรียบร้อยแล้วคู่ความรับข้อเท็จจริงกันอีกว่าคำสั่งพักงานของจำเลยปรากฏตามเอกสารหมาย จ.ล.1 การพักงานเป็นไปตามเอกสารท้ายคำแถลงฉบับลงวันที่ 12 มีนาคม 2539 หมาย จ.ล.2 ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ระบุว่า”การเลิกจ้างตามข้อนี้ หมายความว่าการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้” นั้นมีความหมายว่า เป็นการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปโดยเด็ดขาด โดยไม่จ่ายค่าจ้างให้ด้วย ซึ่งสภาพความเป็นนายจ้างและลูกจ้างสิ้นสุดลงไม่ใช่เรื่องการให้ลูกจ้างหยุดงานเพียงชั่วคราว ซึ่งสภาพการเป็นนายจ้างและลูกจ้างยังไม่สิ้นสุดลงและลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าจ้าง ถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างให้หยุดงานชั่วคราวลูกจ้างก็มีสิทธิเรียกเอาได้ ส่วนข้อความที่ว่า “ไม่ว่าเพราะเหตุอื่นใด” นั้นก็หมายถึงมูลเหตุของกรณีที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปโดยเด็ดขาดโดยไม่จ่ายค่าจ้างนั่นเองมิใช่กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวหรือพักงานแต่อย่างใดเช่นนี้การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยเพื่อรอการลงโทษจนกว่าคดีอาญาที่โจทก์ต้องหาว่าลักทรัพย์ของนายจ้างจะถึงที่สุดนั้น นับว่าเป็นการให้ลูกจ้างหยุดงานเป็นการชั่วคราวสภาพการเป็นนายจ้างลูกจ้างยังคงมีอยู่ต่อไป ไม่ใช่เป็นกรณีจำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปโดยเด็ดขาด เพราะเมื่อคดีถึงที่สุดปรากฏว่าโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยก็ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปเสมือนหนึ่งว่าไม่เคยเลิกจ้างและจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานให้แก่โจทก์เพราะการที่โจทก์ไม่ได้ทำงานนั้นเนื่องมาจากฝ่ายจำเลยเองก็ไม่มอบงานให้ทำแต่จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ การสั่งพักงานโจทก์ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ดังที่ยกมากล่าวข้างต้นจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามที่อุทธรณ์ขอมา ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน