คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 978/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยจะร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3(1) นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย และคดีถึงที่สุดไปแล้วก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายอาญา คือ วันที่ 1 ม.ค. 2500 ถ้าคดีของจำเลยมาถึงที่สุดลงเมื่อประมวลกฎหมายอาญาได้ออกใช้เสียแล้วกรณีก็ไม่อยู่ในบังคับ มาตรา 3(1) แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่ศาลจะแก้กำหนดโทษเสียใหม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงความหนักเบาของโทษตามกฎหมายเก่าใหม่แต่อย่างใด

ย่อยาว

จำเลยทั้งสองถูกศาลพิพากษาให้จำคุกคนละ 6 ปี ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 227 ประกอบด้วยมาตรา 225 และมาตรา 304คดีถึงที่สุดภายหลังที่ประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาแล้ว

ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษของจำเลยทั้งสองเสียใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3(1) โดยอ้างว่าความผิดของจำเลยต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ประกอบด้วยมาตรา 264 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือถ้าประกอบด้วยมาตรา 265 ก็มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เท่านั้น

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลทั้งสอง ให้ยกคำร้องของจำเลย

ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า ที่จำเลยทั้งสองร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3(1) นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย และคดีถึงที่สุดไปแล้วก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายอาญา คือ วันที่ 1 มกราคม 2500 แต่กรณีของจำเลยทั้งสองหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ กล่าวคือ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาได้พิพากษาเมื่อได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งคดียุติเพียงชั้นศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ได้อ่านให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาแล้วเช่นกัน หากจำเลยที่ 2 เห็นว่า จำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์มิได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาลงโทษให้เป็นคุณแก่จำเลย จำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะยื่นฎีกาคัดค้านเสียในชั้นนั้น แต่จำเลยที่ 2 ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ เมื่อคดีของจำเลยทั้งสองมาถึงที่สุดลงเมื่อประมวลกฎหมายอาญาได้ออกใช้เสียแล้วกรณีก็ไม่อยู่ในบังคับ มาตรา 3(1) แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่ศาลจะแก้กำหนดโทษเสียใหม่ได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยถึงความหนักเบาของโทษของจำเลยตามกฎหมายเก่าใหม่แต่อย่างใด

Share