คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9758/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจะเป็นผู้กระทำผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้กระทำผิดจะต้องมีเจตนาจัดหางานตามมาตรา 4 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528
บ้านที่จำเลยพักอาศัยเป็นบ้านธรรมดา ไม่ได้จัดตั้งเป็นสำนักงาน เมื่อผู้เสียหายไปติดต่อที่บ้านจำเลยเพื่อให้จำเลยส่งไปทำงานในต่างประเทศ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ที่บ้านเพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นสถานที่สำหรับจัดหางาน และก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยไม่เคยส่งคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ หรือมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นใดที่เคยส่งคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ การที่จำเลยยืนยันกับผู้เสียหายว่าจำเลยสามารถจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งสี่ไปทำงานในต่างประเทศได้ แล้วจำเลยพาผู้เสียหายไปขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและให้ผู้เสียหายพักที่บ้านจำเลยในระหว่างที่ยังไม่ได้เดินทางไป ก็เพียงเพื่อหลอกลวงให้ผู้เสียหายให้หลงเชื่อยิ่งขึ้นว่าจำเลยสามารถจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งสี่เพื่อไปทำงานในต่างประเทศได้ แล้วผู้เสียหายยินยอมจ่ายเงินให้จำเลยตามที่เรียกร้องเท่านั้น พฤติการณ์ของจำเลยดังที่กล่าวมายังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาจัดหางานให้ผู้เสียหายการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,90, 91, 341, 343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30, 82, 91 ตรี กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน300,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 350,000 บาท และผู้เสียหายที่ 3 กับที่ 4จำนวนคนละ 330,000 บาท

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343 วรรคแรก พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง 82, 91 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานฉ้อโกง ฐานฉ้อโกงประชาชน และฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถส่งไปทำงานในต่างประเทศเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถส่งไปทำงานในต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทงจำคุก 15 ปี ฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 20 ปี ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ 1จำนวน 300,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 350,000 บาท และผู้เสียหายที่ 3กับที่ 4 จำนวนคนละ 330,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้องเฉพาะความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเฉพาะความผิดฐานจัดหางานให้คนงานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางให้จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ นางสาวสุภาวดี หงศิริ ผู้เสียหายที่ 1นายใจไท กาละกุล ผู้เสียหายที่ 2 นางขวัญกมล ธรรมวงษา ผู้เสียหายที่ 3 และนางราตรี ชุมสีดา ผู้เสียหายที่ 4 ทราบว่าจำเลยสามารถส่งคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ จึงไปติดต่อจำเลยที่บ้านจำเลยซึ่งเป็นบ้านพักธรรมดา ไม่ได้จัดตั้งเป็นสำนักงาน จำเลยเรียกเงินจากผู้เสียหายทั้งสี่และยืนยันว่า จำเลยสามารถส่งผู้เสียหายทั้งสี่ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้ ถ้าไม่สามารถส่งได้จะคืนเงินให้ ผู้เสียหายทั้งสี่จ่ายเงินให้จำเลยตามที่เรียกร้องโดยมอบให้จำเลยบางส่วน และโอนเข้าบัญชีเงินฝากในธนาคารของภริยาจำเลยบางส่วน จำเลยขอหนังสือเดินทางและเอกสารต่าง ๆ จากผู้เสียหายทั้งสี่ นำผู้เสียหายทั้งสี่ไปขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและให้ผู้เสียหายทั้งสี่พักที่บ้านจำเลยในระหว่างรอว่าผู้เสียหายทั้งสี่จะได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ แต่จำเลยไม่สามารถส่งผู้เสียหายทั้งสี่ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้ ซึ่งเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และเป็นการกระทำเพื่อหลอกลวงผู้เสียทั้งสี่

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่าการจะเป็นผู้กระทำผิดฐานนี้จะต้องมีเจตนาจัดหางานตามมาตรา 4 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า บ้านที่จำเลยพักอาศัยเป็นบ้านธรรมดา ไม่ได้จัดตั้งเป็นสำนักงาน เมื่อผู้เสียหายทั้งสี่ไปติดต่อที่บ้านจำเลย เพื่อให้จำเลยส่งไปทำงานในต่างประเทศนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ที่บ้านเพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นสถานที่สำหรับจัดหางาน และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยเคยส่งคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ หรือมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นใดที่เคยส่งคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ อันเป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อมโยงและจะบ่งชี้ว่าจำเลยมีเจตนาจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งสี่เพื่อไปทำงานในต่างประเทศดังเช่นที่เคยกระทำ การที่จำเลยยืนยันกับผู้เสียหายทั้งสี่ว่าจำเลยสามารถจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งสี่ไปทำงานในต่างประเทศได้แล้วพาผู้เสียหายทั้งสี่ไปขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และให้ผู้เสียหายทั้งสี่พักที่บ้านจำเลยในระหว่างที่ยังไม่ได้เดินทางไปก็เพื่อหลอกลวงให้ผู้เสียหายทั้งสี่หลงเชื่อยิ่งขึ้นว่าจำเลยสามารถจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งสี่เพื่อไปทำงานในต่างประเทศได้แล้วยินยอมจ่ายเงินให้จำเลยตามที่เรียกร้องเท่านั้นพฤติการณ์ของจำเลยดังที่กล่าวมายังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งสี่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต

พิพากษายืน

Share