คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถูกพนักงานอัยการฟ้องขอให้ลงโทษฐานขับรถ โดยประมาท เป็นเหตุให้รถชนกันผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยกลัวจะต้องรับโทษจำคุก จึงขอให้ผู้เสียหายเขียนหนังสือถึงพนักงานอัยการ ผู้เสียหายจึงเขียนหนังสือถึงพนักงานอัยการว่าตนไม่ติดใจจะฟ้องจำเลย ทั้งนี้เพื่อหวังผลให้จำเลยได้รับความปราณีบรรเทาโทษในทางอาญาเท่านั้น หนังสือดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นหนังสือประนีประนอมยอมความตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 850, 851 ผู้เสียหายจึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งได้
ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นโจทก์ เมื่อปรากฎในระหว่างพิจารณาว่า อาการบ่วยของโจทก์ยังไม่หาย ยังไม่เป็นการแน่นอนลงไปทีเดียวว่าโจทก์จะพิการต่อไปจนตลอดชีวิตหรืออาจหายได้ เช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจสงวนสิทธิไว้ในคำพิพากษาที่จะแก้ไขคำพิพากษาในเรื่องกำหนดค่าเสียหายได้ ภายใน 2 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ จำเลยที่ ๒, ๓, ๔ ซึ่งเป็นนายจ้างและเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๐๒๐๔ รับจ้างขนส่งคนโดยสารระหว่างทับเที่ยง – คลองพล ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ขับรถมาในทางการที่จ้าง ขับรถเร็วเกินขนาดด้วยความประมาท เป็นเหตุให้รถของจำเลยไปชนรถของนายหกเชื้อง แซ่หลิง เสาหน้ารถหักกระแทกตัวโจทก์บาดเจ็บ ๓ แห่ง ต้องพิการไปตลอดชีวิต ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ จำเลยต้องรับผิดชอบให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ ฯลฯ
จำเลยที่ ๒ – ๓ อ้างว่าไม่ใช่นายจ้างจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๔ เช่าซื้อรถยนต์คันนี้ไปจากจำเลยที่ ๒ แล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินรวม ๑๒๗๐๐ บาท แต่ยังสงวนไว้ ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษานี้ได้ภายในระยะ ๒ ปี นับแต่วันพิพากษาคดีเป็นต้นไป เมื่อโจทก์ยังไม่หายเป็นปกติ ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๒ และ จำเลยที่ ๔
จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า หนังสือที่โจทก์เขียนถึงพนักงานอัยการจังหวัดตรัง ซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นหนังสือประนีประนอมนั้น เป็นหนังสือที่จำเลยที่ ๑ ขอให้โจทก์เขียนเพื่อประโยชน์ในทางคดีอาญา ซึ่งจำเลยที่ ๑ ถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลในกรณีที่ทำให้โจทก์เกิดบาดเจ็บสาหัสโดยประมาท โดยจำเลยที่ ๑ กลัวจะต้องรับโทษจำคุก ข้อความในหนังสือที่ว่าโจทก์ไม่ติดใจฟ้องจำเลยที่ ๑ จึงมีความหมายแต่เพียงในทางอาญา เพราะเป็นหนังสือเขียนถึงพนักงานอัยการในกรณีที่จำเลยที่ ๑ ถูกฟ้องทางอาญา ไม่ใช่เรื่องจะไปพูดกับพนักงานอัยการในความรับผิดทางแพ่ง
หนังสือนี้ก็ไม่มีลักษณะเป็นหนังสือประนีประนอมยอมความตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๘๕๐, ๘๕๑ เพราะเป็นหนังสือที่โจทก์ฝ่ายเดียวเขียนถึงพนักงานอัยการเพื่อหวังผลให้จำเลยที่ ๑ ได้รับความปราณีบรรเทาโทษในทางอาญาเท่านั้นไม่ใช่เรื่องแสดงเจตนาต่อสู้ลูกหนี้เพื่อปลดหนี้ตามมาตรา ๓๔๐ แห่ง ป.ม.แพ่งฯ
ประเด็นข้อสุดท้าย ก็ได้ความว่า ในระหว่างพิจารณาคดีนี้ อาการป่วยของโจทก์ยังไม่หายเป็นปกติ ต้องใช้ไม้ยันคำรักแร้ทั้งสองข้างในเวลาเดิน และศาลชั้นต้นเห็นว่ายังไม่เป็นอาการแน่นอนลงไปทีเดียวว่าโจทก์จะพิการเช่นนั้นต่อไปตลอดชีวิต หรืออาจหายได้เป็นปกติ จึงสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาในเรื่องกำหนดค่าเสียหายภายใน ๒ ปี ซึ่งไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไข ให้ยกฎีกาจำเลยเสีย
คงพิพากษายืน

Share