คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9738/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 แบ่งออกเป็น 2 ประการ ประการแรกเป็นความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับซึ่งการบังคับหรือบงการให้กระทำที่เป็นความผิดนั้นมาจากภายนอก ผู้ถูกบังคับมิได้คิดริเริ่มกระทำการนั้นขึ้นด้วยใจตนเอง แต่เป็นเพราะไม่มีทางที่จะทำอย่างอื่นใด อีกประการหนึ่งก็คือเป็นความจำเป็นซึ่งไม่มีการบังคับหรือบงการให้กระทำแต่มีภยันตรายที่จะต้องหลีกเลี่ยงและผู้กระทำเลือกหลีกเลี่ยงภยันตรายโดยวิธีกระทำการอันเป็นความผิดด้วยความคิดริเริ่มของตน แม้อาจทำอย่างอื่นได้ แต่การกระทำอย่างอื่นนั้นก็ยังทำความเสียหายแก่ผู้อื่นอยู่นั่นเอง ดังนั้น การกระทำด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 อันเป็นมูลเหตุแห่งการยกเว้นโทษจึงไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำโดยผู้กระทำมีจิตใจเป็นอิสระ แต่กระทำโดยถูกผู้อื่นหรือเหตุการณ์อื่นบังคับอีกชั้นหนึ่ง
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ เมื่อปรากฏว่าเอกสารที่โจทก์อ้างถึงในคดีสูญหายไปจากสำนวนความของศาล ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้นำเอกสารเหล่านั้นมามอบคืนศาลชั้นต้น โดยผู้ถูกกล่าวหาเมื่อได้รับเอกสารดังกล่าวคืนมาแล้วยังคงเก็บเอกสารดังกล่าวไว้อีก 2 ถึง 3 วัน โดยไม่นำมาส่งคืนศาล และการเก็บเอกสารเช่นว่านั้นก็มิได้รับอนุญาตจากศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาหาใช่เป็นเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ การกระทำของผู้กล่าวหาจึงมิใช่กระทำความผิดด้วยความจำเป็นอันจะทำให้ไม่ต้องรับโทษ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากระหว่างการพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๗๗๕/๒๕๓๗ ของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานศาลได้รายงานต่อศาลว่า เอกสารที่โจทก์ส่งอ้างในคดีซึ่งศาลหมาย จ. ๙ และ จ. ๑๐ สูญหายไปจากสำนวนความของศาล ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวนำเอกสารมามอบคืนศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นเห็นว่า แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะมิได้ยอมรับโดยตรงว่าเป็นผู้เอาเอกสารทั้ง ๒ ฉบับ ซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาไปจากศาล แต่เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้รับเอกสารทั้ง ๒ ฉบับคืน ได้เก็บเอกสารทั้ง ๒ ฉบับไว้เป็นเวลา ๒ ถึง ๓ วัน โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๑ (๑) , ๓๓ ให้ปรับ ๕๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ , ๓๐
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาว่า คดีมีเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ควรได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๗ หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติในเรื่องการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๗ แบ่งแยกความจำเป็นออกเป็น ๒ ประการ กล่าวคือ ประการแรกเป็นความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับซึ่งการบังคับหรือบงการให้กระทำที่เป็นความผิดนั้นมาจากภายนอก ผู้ถูกบังคับมิได้คิดริเริ่มกระทำการนั้นขึ้นด้วยใจตนเอง แต่เป็นเพราะไม่มีทางที่จะทำอย่างอื่นได้ หรืออีกประการหนึ่งก็คือเป็นความจำเป็นซึ่งไม่มีการบังคับหรือบงการให้กระทำ แต่มีภยันตรายที่จะต้องหลีกเลี่ยงและผู้กระทำเลือกหลีกเลี่ยงภยันตรายโดยวิธีกระทำการอันเป็นความผิดด้วยความคิดริเริ่มของตน แม้อาจทำอย่างอื่นได้ แต่การกระทำอย่างอื่นนั้นก็ยังทำความเสียหายแก่ผู้อื่นอยู่นั่นเอง ดังนั้น การกระทำด้วยความจำเป็นอันเป็นมูลเหตุแห่งการยกเว้นโทษจึงไม่ใช่สิทธิแต่เป็นการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำโดยผู้กระทำมีจิตใจเป็นอิสระ แต่กระทำโดยถูกผู้อื่นหรือเหตุการณ์อื่นบังคับอีกชั้นหนึ่ง ส่วนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น เป็นความผิดต่อศาลและการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ ซึ่งตามพฤติการณ์แห่งคดีปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาเมื่อได้รับเอกสารหมาย จ. ๙ และ จ. ๑๐ คืนมาแล้วยังคงเก็บเอกสารดังกล่าวไว้อีก ๒ ถึง ๓ วัน โดยไม่นำมาส่งคืนศาล และการเก็บเอกสารเช่นว่านั้นก็มิได้รับอนุญาตจากศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเช่นนี้หาใช่เป็นเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้แต่อย่างใด การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงมิใช่ความผิดด้วยความจำเป็นอันจะทำให้ไม่ต้องรับโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาลงโทษผู้ถูกกล่าวหามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างลงโทษปรับผู้ถูกกล่าวหา ๕๐๐ บาท นั้น เห็นว่าหนักเกินไป สมควรแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับ ๒๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔.

Share