แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า ช. บิดาโจทก์จำเลยได้เอาที่ดินเนื้อที่ 19 ไร่เศษมาตีเป็นทองคำหมั้นให้แก่ ข. 6 ไร่ในเวลาที่โจทก์กับ ข. สมรสกัน. และกองทุนให้โจทก์กับข. อีก 4 ไร่ รวมเป็น 10 ไร่. โจทก์กับ ข.มีบุตรคนหนึ่ง. ข. ตาย ที่ 10 ไร่จึงตกได้แก่โจทก์และบุตร. จึงขอให้ศาลแสดงว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่นา 10 ไร่ ห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้อง. ดังนี้ ต้องแปลฟ้องโจทก์ว่า โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้รับมรดก ช.ให้โอนที่ให้แก่โจทก์ตามสัญญาที่ช.ทำไว้กับโจทก์และ ข.. แต่ฟ้องโดยถือว่าที่ตกเป็นของ ข. และโจทก์แล้ว 10 ไร่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายช้อยบิดาโจทก์ จำเลยได้เอาที่ดินเนื้อที่19 ไร่ 2 งาน 52 วา มาตีเป็นทองคำหมั้นให้แก่นางขันถม 6 ไร่ในเวลาที่นางขันถมสมรสกับโจทก์และกองทุนให้โจทก์กับนางขันถมอีก4 ไร่ รวมเป็น 10 ไร่ แต่ยังไม่ได้แก้ทะเบียน โจทก์และนางขันถมได้ยึดถือที่ดินนี้เป็นของตนรวม 10 ไร่ ต่อมาโจทก์และนางขันถมอยู่กินด้วยกัน จนมีบุตร คือ เด็กชายเฉลิม นางขันถมตาย นา 6 ไร่ที่ตีเป็นทองหมั้นและตกเป็นสินส่วนตัว จึงตกได้แก่โจทก์และบุตรส่วนอีก 4 ไร่ที่เป็นทุนก็ตกแก่โจทก์และบุตร ส่วนนายช้อยคงเหลืออีกเพียง 9 ไร่ 2 งาน 52 วา นายช้อยตายในปี พ.ศ. 2490 จำเลยได้ตกลงให้โจทก์เป็นผู้ออกเงินทำศพ จำเลยจะไม่เกี่ยวข้องกับที่มรดก 9 ไร่เศษนี้ โดยให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ บัดนี้จำเลยได้ประกาศขอรับมรดกที่แปลงนี้รวมทั้งของโจทก์ 10 ไร่ด้วย จึงขอให้ศาลแสดงว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่นา 10 ไร่ ห้ามไม่ให้จำเลยเกี่ยวข้อง หักค่าทำศพออกจากที่ดินส่วนที่เป็นมรดกและแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละส่วน รวม 3 ส่วน จำเลยที่ 1 ให้การว่านายช้อยเป็นคนวิกลจริต ไม่ได้ทำสัญญาดังฟ้อง หากได้ทำก็โดยถูกหลอกลวงและถูกกลอุบายของโจทก์ การยกให้ไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 2 ให้การว่าไม่เคยให้โจทก์ออกเงินค่าทำศพนายช้อย โดยจำเลยจะไม่เกี่ยวข้องด้วยกับที่ดินของนายช้อย โจทก์ไม่มีสิทธิหักเงินค่าทำศพออกจากกองมรดกนายช้อย เพราะเป็นเรื่องต่างฝ่ายต่างกระทำไปตามหน้าที่ของบุตร ชั้นพิจารณารับกันว่า โจทก์ได้ออกเงินค่าทำศพทดรอง 600 บาทศาลชั้นต้นเห็นว่า แม้นายช้อยจะได้ทำสัญญาไว้จริง ก็เป็นสัญญาให้ที่ดินโฉนด เมื่อไม่ได้จดทะเบียน ตกเป็นโมฆะ ที่ 10 ไร่โจทก์ยึดไว้เป็นของตนไม่ถึง 10 ปี และไม่ปรากฏว่าแยกกันปกครองเป็นส่วนสัด โจทก์จำเลยทั้ง 3 คน เป็นทายาทโดยธรรมของนายช้อยและได้ว่ากันมาในเรื่องมรดกอยู่แล้ว สมควรแบ่งมรดกให้เสร็จไปด้วยพิพากษาให้เอาที่นารายพิพาททั้งแปลงมาแบ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญารายนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทนกัน ไม่ใช่สัญญาให้โจทก์ฟ้องขอให้ผู้รับมรดกปฏิบัติตามสัญญาต่อไป ผู้รับมรดกจึงมีหน้าที่โอนนา 10 ไร่ให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาได้ตรวจคำพรรณนาในคำฟ้องคดีของโจทก์แล้ว โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยในฐานะผู้รับมรดกนายช้อยให้โอนให้แก่โจทก์ตามสัญญา แต่ฟ้องโดยถือว่าตกเป็นของนางขันถมและโจทก์ 10 ไร่ โจทก์หาได้ฟ้องดังฎีกาไม่ พิพากษายืน.