แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 กับ ก. เป็นหุ้นส่วนในการจัดสรรที่ดินขายโดยใช้ที่ดินพิพาทเป็นถนนเข้าสู่โครงการ การที่จำเลยที่ 1 กับ ก. ใช้ถนนเป็นทางเข้าออกของหมู่บ้านจัดสรรถือเป็นสาธารณูปโภคซึ่งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษาให้คงสภาพดังที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป แม้ต่อมาจะได้มีพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 แต่พระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ก็ยังคงมีบทบัญญัติเช่นเดิม จึงต้องถือว่าถนนดังกล่าวเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน จึงตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ซึ่งมิอาจทำให้ภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกได้ การที่โจทก์รับซื้อฝากที่ดินจาก ก. แม้จะได้กรรมสิทธิ์จากการรับซื้อฝาก ภาระจำยอมดังกล่าวก็ย่อมตกติดไปด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 มีวัตถุประสงค์ผลิต จัดให้ได้มาจัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรังเป็นสาขาหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3178 เนื้อที่ 1 งาน 93 ตารางวา โดยรับซื้อฝากจากนางกันยาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2540 และเลยกำหนดเวลาไถ่ถอนแล้ว เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2539 พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรังดำเนินการปักเสา 6 ต้น พาดสายจ่ายไฟฟ้าเข้าที่ดินจัดสรรของจำเลยที่ 1 ในการก่อสร้างปักเสาพาดสายจ่ายไฟฟ้าลงบนที่ดินดังกล่าวของจำเลยทั้งสองไม่ได้รับความยินยอมจากนางกันยาเจ้าของที่ดินและไม่ได้แจ้งให้เจ้าของที่ดินทราบ ทำให้โจทก์ซึ่งรับโอนที่ดินมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ หากไม่มีเสาไฟและพาดสายไฟฟ้าบนที่ดินดังกล่าว โจทก์สามารถนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละไม่ต่ำกว่า 6,000 บาท หรือวันละ 200 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันย้ายเสาไฟฟ้าออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3178 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ให้โจทก์ดำเนินการแทนโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์วันละ 200 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะย้ายถอนเสาไฟฟ้าออกไปจากที่ดินโจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลมีนายวิบูลย์เป็นผู้ว่าการและเป็นผู้แทนนิติบุคคล มอบอำนาจให้นายจำรัสผู้จัดการไฟฟ้าจังหวัดตรังดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2537 นางกันยาซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3178 มาจากผู้มีชื่อ แล้วนำที่ดินดังกล่าวไปเข้าหุ้นกับจำเลยที่ 1 และพวกอีกหลายคนเป็นห้างหุ้นส่วนประเภทห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ผลกำไรในการจัดสรรแบ่งขายที่ดินร่วมกัน โดยที่ดินที่จัดสรรแบ่งขายนั้นอยู่ติดต่อกับที่ดินพิพาท และแบ่งเป็นแปลงประมาณ 300 แปลง จำเลยที่ 1 กับนางกันยาใช้ที่ดินพิพาทเป็นถนนเข้าออกของหมู่บ้านจัดสรร และใช้ที่ดินพิพาทติดตั้งเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน ในการติดตั้งเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าให้แก่หมู่บ้านดังกล่าว จำเลยที่ 2 ดำเนินการแล้วเสร็จจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โครงการตั้งแต่ปี 2539 แต่โจทก์รับซื้อฝากที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2540 ซึ่งขณะกระทำการซื้อขายสภาพที่ดินเป็นถนนทางเข้าหมู่บ้านและเป็นที่ดินที่มีการจัดตั้งเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าอยู่ก่อนแล้วและนางกันยาเจ้าของที่ดินเดิมมีเจตนายกที่ดินพิพาทให้เป็นที่ดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และตามสภาพที่ดินพิพาทประชาชนได้ใช้และหวงแหนไว้เป็นประโยชน์ร่วมกันตามเจตนาของนางกันยาแล้ว การก่อสร้างปักเสาพาดสายจ่ายไฟฟ้าของจำเลยที่ 2 ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายและในขณะที่โจทก์รับโอนซื้อฝากที่ดินพิพาท โจทก์รู้อยู่แล้วว่าที่ดินเป็นถนนทางเข้าออกหมู่บ้านและเป็นที่ดินสำหรับติดตั้งเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านเป็นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน การรับโอนดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการรับโอนที่ไม่สุจริต สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับนางกันยาเป็นโมฆะโจทก์ไม่สุจริต สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับนางกันยาเป็นโมฆะโจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่รับโอนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาไม่สุจริต ไม่เป็นความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองย้ายถอนเสาไฟฟ้าออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3178 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 100 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายเสาไฟฟ้าออกไปจากที่ดินโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 1,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าวันที่ 18 ธันวาคม 2540 โจทก์รับซื้อฝากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3178 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เนื้อที่ 1 งาน 93 ตารางวา มาจากนางกันยาผู้ขายฝาก พ้นกำหนดแล้วไม่มีการไถ่ถอน โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว นับตั้งแต่วันรับซื้อฝาก จำเลยที่ 1 มีอาชีพจัดสรรขายที่ดินให้แก่บุคคลโดยทั่วไป ได้ให้จำเลยที่ 2 ปักเสาไฟฟ้า 6 ต้น ลงในที่ดินพิพาทเรียงไปตามความยาวของที่ดินเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่จัดสรรขาย ในการดำเนินการปักเสาพาดสายสิ้นค่าใช้จ่ายไปเป็นเงิน 940,474 บาท ตามเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 จำเลยที่ 2 ดำเนินการเสร็จเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นวันเวลาก่อนที่โจทก์รับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากนางกันยาวิศวรุ่งโรจน์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยทั้งสองทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันปักเสาพาดสายไฟฟ้าฝ่ายที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และนางกันยาซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมจำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กับนางกันยาเป็นหุ้นส่วนในการจัดสรรที่ดินเพื่อแบ่งขายกับประชาชนทั่วไป จำเลยที่ 1 กับนางกันยาประสงค์จะใช้ที่ดินพิพาทเป็นถนนเข้าออกหมู่บ้านจัดสรรและใช้ที่ดินพิพาทสำหรับติดตั้งเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านด้วย ส่วนโจทก์กล่าวอ้างว่า นางกันยามิได้ยินยอมให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นที่ปักเสาพาดสายไฟฟ้าผ่านเข้าออกหมู่บ้าน จึงมีข้อควรพิจารณาว่าที่ดินพิพาทซึ่งเดิมเป็นของนางกันยานั้น นางกันยายินยอมให้จำเลยทั้งสองปักเสาพาดสายไฟฟ้าผ่านในที่ดินพิพาทหรือไม่ ในประเด็นนี้โจทก์มีตัวโจทก์มาสืบพยานเพียงปากเดียวว่า การที่จำเลยทั้งสองปักเสาพาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินพิพาทไม่ได้รับความยินยอมจากนางกันยาเจ้าของเดิม แต่โจทก์มิได้นำนางกันยาซึ่งเป็นเพื่อนที่คบกันมากว่า 20 ปี มาเบิกความด้วยเพื่อให้เห็นจริงตามคำกล่าวอ้าง ส่วนจำเลยที่ 2 มีนายจำรัสผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 2 เบิกความว่าหากมีผู้ยื่นคำร้องขอใช้ไฟฟ้า ทางการไฟฟ้าจะให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพื้นที่ที่จะปักเสาพาดสายไฟฟ้า ซึ่งจะต้องมีถนนเข้าไปได้เนื่องจากจะต้องใช้รถยนต์บรรทุกอุปกรณ์การไฟฟ้าเข้าไปดำเนินการ และต้องมีการเข้าไปดูแลรักษาในภายหลัง นายเชษฐพงษ์พยานจำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอใช้ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2538 หลังจากจำเลยที่ 2 ได้รับคำร้องขอใช้ไฟจากจำเลยที่ 1 แล้ว พยานได้เข้าไปดูพื้นที่เพื่อจะปักเสาพาดสายไฟ ได้ตรวจสอบพื้นที่ตามคำขอและแผนผังที่ตั้งที่พิพาทเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ที่ดินพิพาทอยู่ปากทางแยกถนนควนขนุนเข้าไปในโครงการเป็นถนนหินคลุกกว้างประมาณ 5 เมตร ถึง 6 เมตร ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.4 ขณะนั้นทางเข้าโครงการที่ดินจัดสรรมีทางเข้าออกเพียงทางเดียวคือทางพิพาท จำเลยที่ 2 ดำเนินการปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าผ่ายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 ตามบันทึกเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังมีดาบตำรวจมานิตย์ และนายสันติชัยมาเบิกความว่า พยานทั้งสองได้ซื้อบ้านพร้อมที่ดินจัดสรรจากจำเลยที่ 1 และนงกันยาซึ่งเป็นหุ้นส่วนกัน เห็นว่า โครงการจัดสรรขายบ้านและที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นการจัดสรรโครงการใหญ่ ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปักเสาพาดสายไฟให้จำเลยที่ 2 เป็นเงินถึง 940,474 บาท ตามเอกสารหมาย จ.6 การทำโครงการใหญ่เช่นนี้หากไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินที่ใช้ปักเสาพาดสายคงมิอาจกระทำได้ เพราะเจ้าของที่ดินจะต้องคัดค้านฟ้องร้องอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ปรากฏว่านางกันยาเจ้าของที่ดินเดิมร้องคัดค้านหรือฟ้องร้องแต่ประการใด และปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.7 สภาพถนนที่เสาไฟฟ้าปักอยู่ก็มีสภาพเป็นถนนหินคลุกสูงจากระดับพื้นดินรอบข้างมีระยะทางยาวพอสมควรและถนนดังกล่าวก็ปรากฏอยู่ในผังบริเวณที่ดินแบ่งขายเป็นแปลงเอกสารหมาย จ.5 กรณีจึงมีเหตุอันควรเชื่อว่า นางกันยากับจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนในการจัดสรรที่ดินกันและนางกันยายินยอมให้ใช้ที่ดินพิพาทซึ่งมีสภาพเป็นถนนตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.7 หากนางกันยามิได้เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 แล้ว การปักเสาพาดสายไฟฟ้าย่อมไม่อาจสำเร็จได้อย่างแน่นอน ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 กับนางกันยาเป็นหุ้นส่วนในการจัดสรรที่ดินขายโดยใช้ที่ดินพิพาทเป็นถนนเข้าสู่โครงการตามภาพเอกสารหมาย จ.7 การปักเสาพาดสายไฟฟ้าจึงถือได้ว่านางกันยาซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 2 ปักเสาพาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินพิพาทโดยปริยาย และการที่จำเลยที่ 1 กับนางกันยาใช้ถนนเป็นทางเข้าออกของหมู่บ้านจัดสรรนั้นถือเป็นสาธารณูปโภค ซึ่งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 สาธารณูปโภค ซึ่งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 บัญญัติว่า อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น ซึ่งในขณะเกิดเหตุนี้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ยังมีผลใช้บังคับอยู่แม้ต่อมาในปี พ.ศ.2543 จะได้มีพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดินโดยมาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ก็ยังคงบัญญัติว่า สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สนามเด็กเล่น ให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องถือว่าถนนดังกล่าวที่ใช้เป็นทางเข้าออกโครงการหมู่บ้านจัดสรรนั้นเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน ถนนดังกล่าวจึงตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ซึ่งมิอาจทำให้ภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกได้ การที่โจทก์รับซื้อฝากที่ดินจากนางกันยาแม้จะได้กรรมสิทธิ์จากการรับซื้อฝาก ภาระจำยอมดังกล่าวก็ย่อมตกติดไปด้วย หาอาจบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันย้ายเสาไฟฟ้าออกจากที่ดินพิพาทได้ไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท กับใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,500 บาท