คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 969/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่จำเลยและจำเลยร่วมอีก 2 สำนวนแต่งตั้งทนายคนเดียวกัน. และทนายได้ยื่นฎีกาเฉพาะในนามของจำเลยร่วม 2สำนวน โดยทนายเป็นผู้เซ็นชื่อในฐานะผู้ฎีกา. เมื่อปรากฏว่าฎีกาฉบับนี้เสียค่าธรรมเนียมชั้นฎีกามา 3 สำนวนและในฎีกามีข้อความว่า ‘จำเลยอาศัยสิทธิของจำเลยร่วมโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย’. ดังนี้ ก็ย่อมถือได้ว่าฎีกาที่ทนายยื่นนั้นเป็นฎีกาของจำเลยด้วย.
เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าที่พิพาทฟังไม่ได้ว่าเป็นของโจทก์. โจทก์ก็ไม่อาจขับไล่จำเลยได้. ดังนั้น แม้จำเลยร่วมคนหนึ่งจะไม่ได้ฎีกาก็ตาม. แต่เมื่อจำเลยฎีกา และจำเลยร่วมนั้นเป็นผู้รับโอนสิทธิการเช่าที่พิพาทจากจำเลย.จำเลยร่วมนั้นก็ไม่จำต้องถูกขับไล่ด้วย. เพราะมูลคดีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า จำเลยทำรั้วบ้านและชานครัวรุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินของโจทก์ โจทก์บอกกล่าวให้รื้อถอนออกไปหลายครั้งจำเลยผัดผ่อนเรื่อยมา ขอให้บังคับจำเลยรื้อรั้วและชานครัวที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์ออกไป จำเลยทั้งสามให้การว่า มิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ ที่ดินที่จำเลยทำรั้วและสวนครัวเป็นที่ดินที่จำเลยเช่าจากวัดมงคลวรารามและกรมการศาสนา โจทก์ควรฟ้องกรมการศาสนาจำเลยเช่ามากว่า10 ปีแล้ว โจทก์ทราบแต่ไม่ทักท้วง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ต่อมาวัดมงคลวรารามโดยนายดี เกตุก่อลาภ ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าอาวาสวัดมงคลวรารามเข้าเป็นจำเลยร่วมกับนายสังเวียนจิระศิริวัฒน์ และนางลูกจันทร์ ไพฑูรย์ โดยขอถือเอาคำให้การของจำเลยทั้งสองที่ยื่นไว้แล้วเป็นคำให้การของวัดมงคลวรารามด้วย และขอให้การเพิ่มเติมว่า จำเลยร่วมได้สิทธิทางครอบครอง หม่อมหลวงสวง สืบแสง จำเลยร้องขอให้เรียกกรมการศาสนาเข้ามาเป็นจำเลยร่วม กรมการศาสนาให้การว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินของวัดมงคลวราราม ซึ่งวัดและกรมการศาสนาให้หม่อมหลวงสวงจำเลยเช่าปลูกอาคารมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ที่พิพาทไม่ได้อยู่ในเขตโฉนดของโจทก์ ระหว่างพิจารณา โจทก์ร้องขอให้เรียกนางซังเซ้ง แซ่ลิ้ม เข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับหม่อมหลวงสวง อ้างว่าหม่อมหลวงสวงจำเลยได้ขายบ้านรายพิพาทให้นางซังเซ้ง และหม่อมหลวงสวงได้ออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่นแล้ว ศาลเรียกนางซังเซ้งเข้ามาเป็นจำเลยร่วมนางซังเซ้งให้การว่าได้รับโอนสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านจากหม่อมหลวงสวงในสภาพเดิม มิได้รุกล้ำ ขอให้ยกฟ้อง แล้วแถลงว่าไม่ติดใจซักค้านพยานโจทก์จำเลยที่สืบไปแล้ว และไม่ติดใจอ้างพยานหรือนำพยานเข้าสืบ ศาลชั้นต้นเชื่อว่าจำเลยปลูกบ้านอยู่ในเขตที่วัดมงคลวรารามมิได้รุกล้ำที่ของโจทก์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เชื่อว่านายสังเวียน นางลูกจันทร์ และหม่อมหลวงสวงทำรั้วและครัวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่โจทก์ออกไปเสีย จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนเห็นว่า นายช่วง อภัยจิตต์ ซึ่งเป็นทนายของวัดมงคลวรารามจำเลยร่วม และเป็นทนายของหม่อมหลวงสวงจำเลยด้วยได้ยื่นฎีกาในนามของวัดมงคลวรารามซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดีที่นายสังเวียน จิระศิริวัฒน์ เป็นจำเลยสำนวนหนึ่ง และที่นางลูกจันทร์ไพฑูรย์ เป็นจำเลยอีกสำนวนหนึ่ง รวมเป็น 2 สำนวนด้วยกัน แม้นายช่วง อภัยจิตต์ จะยื่นฟ้องฎีกาในนามของวัดมงคลวรารามก็ดีแต่ปรากฏว่าฎีกาฉบับนี้เสียค่าธรรมเนียมชั้นฎีกามา 3 สำนวนซึ่งเป็นของวัดมงคลวรารามจำเลยร่วมเพียง 2 สำนวนเท่านั้น นอกจากนี้ฟ้องฎีกาฉบับนี้มีข้อความว่าที่พิพาทเป็นของวัด หม่อมหลวงสวงมิได้รุกล้ำที่ของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฉะนั้นจึงถือได้ว่าฎีกาที่นายช่วงยื่นนั้นเป็นฎีกาของหม่อมหลวงสวงจำเลยด้วยส่วนนางซังเซ้งและกรมการศาสนามิได้ฎีกา ศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่า คดีฟังไม่ได้ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์โจทก์จะขอให้นายสังเวียน นางลูกจันทร์และหม่อมหลวงสวงรื้อรั้วบ้านและชานครัวไปตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์หาได้ไม่ คดีนี้แม้นางซังเซ้งและกรมการศาสนาจำเลยร่วมจะไม่ได้ฎีกา แต่เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่หม่อมหลวงสวง อันมีประเด็นว่าที่พิพาทเป็นของวัดมงคลวรารามซึ่งหม่อมหลวงสวงมีสิทธิอยู่ได้หรือไม่ เมื่อโจทก์ขับไล่หม่อมหลวงสวงไม่ได้ นางซังเซ้งและกรมการศาสนาก็ไม่จำต้องถูกขับไล่ด้วย เพราะมูลคดีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาจึงให้คำพิพากษาฎีกานี้มีผลถึงนางซังเซ้งและกรมการศาสนาที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share