คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9681/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยเป็นบุตรของ ศ. มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 5 คน เดิมที่ดินพิพาทเป็นของ ศ. และขณะที่ ศ.ถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมีหลักฐานเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อ ศ.ถึงแก่ความตายแล้วโจทก์และจำเลยได้ยื่นคำร้องขอรับมรดกที่ดินพิพาทร่วมกัน 2 คน โดยพี่น้องคนอื่น ๆอีก 5 คน ได้ทำบันทึกไม่ประสงค์จะขอรับมรดก และโจทก์ได้ทำบันทึกให้ถ้อยคำต่อนายอำเภอว่าเมื่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้เป็นของโจทก์จำเลยแล้ว โจทก์ยินยอมขอรังวัดแบ่งแยกออกเป็นส่วนของโจทก์เพียง1 ไร่ ส่วนที่เหลือให้ตกเป็นของจำเลย โดยจำเลยจะให้เงินโจทก์ 40,000 บาทเป็นการตอบแทน หากจำเลยไม่มีเงินชำระก็ไม่ติดใจเอาส่วนของโจทก์ตามที่ตกลงไว้ดังนี้ เมื่อตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ได้ความเพียงว่า หลังจากโจทก์ตกลงกับจำเลยแล้ว จำเลยก็ดำเนินการตามที่ตกลง แต่ล่าช้าเกินไป และโจทก์หมดความจำเป็นที่จะใช้เงินไปลงทุนทำการค้าแล้วจึงบอกเลิกข้อตกลงดังกล่าวเสีย หาได้ปรากฏว่ามีพฤติการณ์อื่นใดพอที่จะชี้ให้เห็นว่าบันทึกข้อตกลงนั้นโจทก์ได้แสดงเจตนาเพราะถูกจำเลยใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงอันถึงขนาดไม่ เมื่อตามข้อตกลงไม่ปรากฏว่าต้องให้จำเลยดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อใด ทั้งปรากฏว่าเมื่อโจทก์จำเลยยื่นเรื่องราวขอรับโอนมรดกไม่มีพินัยกรรมแล้ว โจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยทำการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและขอจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวม จึงเห็นได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว เพียงแต่ดำเนินการล่าช้าเท่านั้น หาได้ใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ไม่ ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆียะ โจทก์ไม่มีสิทธิบอกล้างได้ แต่โฉนดที่ดินที่จำเลยแบ่งแยกให้โจทก์มีเนื้อที่เพียง 3 งาน 30 ตารางวา ไม่ตรงตามที่ตกลงกัน เพราะความผิดพลาดของเจ้าพนักงานที่ดิน โจทก์จึงยังมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งอีก 70 ตารางวาแม้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์กึ่งหนึ่ง แต่ทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่งอีกเพียง 70 ตารางวา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (2) ส่วนเงินจำนวน40,000 บาท นั้น ไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์ได้ เพราะเป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 142วรรคหนึ่ง

Share