คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3490/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมร่องน้ำพิพาทอยู่ในทางสาธารณะหน้าที่ดินโจทก์ก่อนที่ จำเลยที่ 1 กับพวกจะถมถนนขึ้นใหม่ ได้มีการ ทำบันทึกข้อตกลง ระหว่างคณะกรรมการสอบสวนของอำเภอฯ กับโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า ทางอำเภอฯอนุญาตให้จำเลยที่ 1 กับพวกทำถนนซึ่งเดิมเป็น ทางสาธารณะได้ และอนุญาตให้โจทก์ขุดร่องน้ำกว้าง 1 ศอก ทางด้านทิศตะวันออกของถนนที่จำเลยที่ 1 กับพวกทำขึ้นยาวตลอดแนวถนน โจทก์ย่อมนำสืบได้ว่าการที่ทางอำเภอฯอนุญาตให้ จำเลยที่ 1 กับพวกทำถนนขึ้นในทางสาธารณะเดิมนั้น จำเลยที่ 1 กับพวกจะต้องเว้นร่องน้ำหน้าที่ดินของโจทก์ไว้ จะทำถนนเต็ม ตามสภาพของทางสาธารณะเดิมไม่ได้ ซึ่งเป็นการนำสืบอธิบาย ให้เห็นความหมายของข้อความในบันทึกว่าที่อนุญาตให้โจทก์ ขุดร่องน้ำหมายความว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจะต้องเว้นที่ไว้กว้าง 1 ศอก ตลอดแนวถนนด้านทิศตะวันออก เพื่อโจทก์จะได้ขุดที่ส่วนนี้ ทำเป็นร่องน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ของโจทก์ได้ต่อไปตามที่โจทก์ใช้มาแต่เดิม มิใช่หมายความว่าอนุญาตให้จำเลยที่ 1 กับพวก ถมดินให้เต็มเนื้อที่ทางสาธารณะที่มีมาแต่เดิม แล้วจึงอนุญาต ให้โจทก์มีสิทธิขุดดินที่จำเลยที่ 1 กับพวกถมแล้วออกเพื่อทำเป็นร่องน้ำ ข้อนำสืบของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ก่อนถึงถนนมีร่องน้ำสาธารณะคั่นอยู่ยาวจากเหนือไปใต้ประมาณ 40 วา กว้าง 3 ศอก ลึก 3 ศอก ติดกับที่ดินโจทก์ตลอดไปถึงที่ดินของผู้อื่น โจทก์และประชาชนใช้ร่องน้ำนี้เป็นประโยชน์ในการทำนามาหลายปีแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2520 จำเลยที่ 1 ได้ขอต่ออำเภอเมืองสุพรรณบุรีกลบร่องน้ำเพื่อทำถนนหลวงให้กว้างขึ้น โจทก์กับพวกได้คัดค้านในที่สุดตกลงกันว่าที่ดินติดต่อกับที่ดินโจทก์ด้านทิศตะวันตกให้ถือเป็นร่องน้ำตามเดิม นอกนั้นให้ใช้เป็นถนน เมื่อเดือนมีนาคม 2522 จำเลยทั้งสองได้สมคบกันใช้รถไถและรถแทรกเตอร์ดันดินขนดินกลบร่องน้ำดังกล่าวนั้นทำเป็นถนนทางเดินจนหมดสภาพเป็นร่องน้ำ และยังได้บุกรุกเอารถไถแทรกเตอร์เข้าไปในที่ดินโจทก์ด้านตะวันตกดันโค่นต้นตาล ต้นมะขามเทศและต้นกระทุ่มทำลายคันนาของโจทก์เสียหายหมด ที่ดินที่จำเลยบุกรุกทำลายนำไปทำเป็นถนนมีเนื้อที่ 20 ตารางวา การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหายทำนาไม่ได้ จึงต้องเสียหายขาดประโยชน์ไปปีละ 9,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้จัดการขุดดินออกทำให้เป็นร่องน้ำลึก 3 ศอก กว้าง 3 ศอก ยาว 40 วา จากเหนือไปใต้ในที่ดินเขตติดต่อกับที่ดินโจทก์ด้านทิศตะวันตกนับตั้งแต่ท่อน้ำใต้ถนนไป และให้จำเลยขุดดินในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ 20 ตารางวา ทำให้มีสภาพทำนาได้ดังเดิม ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ปีละ 9,000 บาท ตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะจัดการและขุดดินเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่าที่ดินพิพาทเดิมมีสภาพเป็นทางสาธารณะ โจทก์ได้ขุดทำเป็นร่องน้ำจนทำให้จำเลยและผู้อื่นเดือดร้อนจำเลยได้ร้องเรียนต่ออำเภอ โจทก์จำเลยจึงตกลงประนีประนอมยอมความต่ออำเภอโดยโจทก์ยินยอมให้จำเลยสร้างถนนในที่พิพาท และโจทก์ยอมเป็นผู้ฝังท่อระบายน้ำและขุดร่องน้ำเพื่อการทำนาของโจทก์โดยโจทก์เป็นผู้ดำเนินการและออกค่าใช้จ่ายเอง แม้จำเลยจะสร้างถนนตรงที่พิพาทโจทก์ก็สามารถทำนาได้ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย การสร้างถนนมิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ ส่วนความเสียหายเกี่ยวกับต้นไม้ จำเลยได้ชดใช้ให้โจทก์แล้ว ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเกินความจริง รายได้สุทธิไม่เกิน 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยได้ทำถนนกลบร่องน้ำโดยจำเลยไม่ได้เว้นที่ทำร่องน้ำกว้าง 1 ศอก ลึก 3 ศอก ยาว 40 วา ตามข้อตกลง และจำเลยถมดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ 14.50 ตารางวา โจทก์ได้รับความเสียหายขาดรายได้สุทธิจากการทำนาปีละ 1,500 บาท พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจัดการขุดดินออกตามแนวระหว่างถนนสาธารณะและที่ดินของโจทก์ด้านตะวันตกจากถนนสายโรงช้าง – ตีนเป็ดไปทางทิศใต้ยาว 40 วา กว้าง 1 ศอก ลึก 3 ศอก ให้จำเลยทั้งสองขุดดินที่ถมรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เพื่อทำให้มีสภาพทำนาได้ดังเดิม ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินปีละ 1,500 บาท นับแต่ปี พ.ศ. 2522 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะจัดการขุดดินออกไปจากแนวร่องน้ำและที่ดินของโจทก์ดังกล่าว

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ เว้นแต่การที่จำเลยที่ 1 กับพวกถมดินขยายเข้าไปในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ 14.50 ตารางวา ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษานี้เกี่ยวกับหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องจัดการขุดดินออกตามแนวถนนสาธารณะและที่ดินของโจทก์ด้านตะวันตกจากถนนโรงช้าง – ตีนเป็ด ไปทางทิศใต้ยาว 40 วา กว้าง 1 ศอก ลึก 3 ศอก และไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินปีละ 1,500 บาท นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏตามบันทึกข้อตกลงหมาย ล.2 และ ล.3ระหว่างคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่นายอำเภอเมืองสุพรรณบุรีแต่งตั้งเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่สาธารณประโยชน์ซึ่งโจทก์จำเลยพิพาทกัน กับจำเลยที่ 1 และโจทก์ว่า 1. ทางอำเภอเมืองสุพรรณบุรีอนุญาตให้จำเลยที่ 1 กับพวกทำถนนกว้าง 2 วา 2 ศอก ยาว 1 เส้น 8 วา ซึ่งเดิมเป็นทางสาธารณะเพื่อใช้สัญจรไปมาได้ โดยการนำดินมาถมและไม่ต้องใช้งบประมาณของทางราชการ 2. อนุญาตให้โจทก์ขุดร่องน้ำมีความกว้าง 1 ศอกทางทิศตะวันออกของถนนที่จำเลยที่ 1 กับพวกทำขึ้น ยาวตลอดแนวถนน ค่าใช้จ่ายและค่าแรงงานโจทก์กับพวกร่วมกันออกเองโดยไม่ใช้เงินของทางราชการ ซึ่งคณะกรรมการ โจทก์และจำเลยได้ลงชื่อไว้ท้ายบันทึก และนายอำเภอเมืองสุพรรณบุรีได้สั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 กับพวกทำถนนได้ สำหรับร่องน้ำพิพาทนั้นปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 2 ว่ามีร่องน้ำพิพาทอยู่จริง เพียงแต่เป็นร่องน้ำที่อยู่ในทางสาธารณะมิได้เป็นร่องน้ำที่มีมาแต่เดิมและโจทก์เป็นผู้ใช้น้ำจากร่องน้ำนี้เพื่อประโยชน์ในการทำนาจริง ซึ่งโจทก์ได้นำสืบต่อไปว่าในการตกลงกันที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรีนั้นได้ตกลงกันให้จำเลยที่ 1 ทำถนนได้ แต่ก็ได้ตกลงกันด้วยว่าจำเลยที่ 1 จะต้องเว้นร่องน้ำไว้ดังเดิม และข้อนำสืบของโจทก์รับฟังได้ว่าในการตกลงกันที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรีตามบันทึกหมาย ล.3 นั้นได้มีข้อตกลงกันด้วยว่าในการที่ทางอำเภอเมืองสุพรรณบุรีอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ทำถนนขึ้นในทางสาธารณะเดิมนั้นจำเลยที่ 1 จะต้องเว้นร่องน้ำหน้าที่ดินของโจทก์ไว้ กล่าวคือจำเลยที่ 1 กับพวกจะทำถนนเต็มตามสภาพของทางสาธารณะเดิมไม่ได้ ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวนี้เป็นการนำสืบอธิบายให้เห็นความหมายของข้อความในบันทึกหมาย ล.3 ข้อ 2 ที่อนุญาตให้โจทก์ขุดร่องน้ำมีความกว้าง 1 ศอก ทางทิศตะวันออกยาวตลอดแนวของถนนที่จำเลยกับพวกทำขึ้นนั่นเองว่าหมายความว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจะต้องเว้นที่ไว้กว้าง 1 ศอกตลอดแนวถนนด้านทิศตะวันออกเพื่อโจทก์จะได้ขุดที่ส่วนนี้ทำเป็นร่องน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ของโจทก์ได้ต่อไปตามที่โจทก์ใช้มาแต่เดิม มิใช่หมายความว่าอนุญาตให้จำเลยที่ 1 กับพวกถมดินให้เต็มเนื้อที่ทางสาธารณะที่มีมาแต่เดิม แล้วจึงอนุญาตให้โจทก์มีสิทธิขุดดินที่จำเลยที่ 1 ถมแล้วออกเพื่อทำเป็นร่องน้ำเพราะการแปลความเช่นนี้มีแต่จะเกิดความเสียหายแก่ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนั้นโดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 การที่จำเลยที่ 1 กับพวกกระทำการถมดินบนทางสาธารณะจนเต็มเนื้อที่โดยไม่ได้เว้นที่ไว้กว้าง 1 ศอกตลอดแนวของถนนจึงเป็นการกระทำนอกเหนือจากที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากทางอำเภอเมืองสุพรรณบุรีให้กระทำได้ เมื่อการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

พิพากษาแก้ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share