แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 226 มิได้กำหนดระยะเวลาโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาไว้ จึงต้องให้คู่ความมีโอกาสและระยะเวลาพอสมควรที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้น แต่มิได้มีความหมายเลยไปจนถึงกับให้คู่ความใช้โอกาสและระยะเวลาเกินสมควรในการโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัท อ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมภายหลังที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าไม่ปรากฏว่าเหตุใดจำเลยที่ 2 ไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวก่อนนั้นได้ จึงยังไม่สมควรให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ให้ยกคำร้อง ต่อมาได้มีการสืบพยานโจทก์ 2 นัด จำเลยที่ 2 เพิ่งมายื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวในนัดที่ 3 คือนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 นับระยะเวลานานถึง 4 เดือน 17 วัน จำเลยที่ 2 ใช้โอกาสและระยะเวลาเกินสมควรในการโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว การโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผล ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้อย้งคำสั่งศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 163,428 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 154,725 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัทเอราวัณประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัย เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2539 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2539
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 134,725 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 รับว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์และไม่ขอสืบพยาน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามศาลชั้นต้นโดยไม่เรียกบริษัทเอราวัณประกันภัย จำกัด บุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมนั้นชอบหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 บัญญัติว่า “ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228
(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด
คู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป” จะเห็นได้ว่า กฎหมายมิได้กำหนดระยะเวลาโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาไว้ ดังนั้นจึงต้องให้คู่ความมีโอกาสและ ระยะเวลาพอสมควรที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้น แต่มิได้มีความหมายเลยไปจนถึงกับให้คู่ความใช้โอกาสและระยะเวลาเกินสมควรในการโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว สำหรับกรณีนี้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องลงวันที่ 3 มิถุนายน 2539 ขอให้เรียกบริษัทเอราวัณประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ภายหลังที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 พิจารณาคดีใหม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2539 อ้างว่าไม่ปรากฏว่าเหตุใดจำเลยที่ 2 ไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวก่อนนั้นได้ จึงยังไม่สมควรให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ให้ยกคำร้อง ต่อมาได้มีการสืบพยานโจทก์ 2 นัด คือวันที่ 16 กันยายน 2539 และวันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 2 เพิ่งมายื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวในนัดที่ 3 คือนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2539 นับระยะเวลานานถึง 4 เดือน 17 วัน จำเลยที่ 2 ใช้โอกาสและระยะเวลาเกินสมควรในการโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว การโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผล ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวตามบทกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็ตามแต่คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวยุติไปตั้งแต่ศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง และแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้มาด้วยก็ตาม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน