คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 966/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อาจแก้ไขคำฟ้องที่เสนอต่อศาลแต่แรกได้โดยเพิ่มหรือลดจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือสละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบ้างข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ โดยวิธีเสนอคำฟ้องเพิ่มเติม
คำฟ้องเดิมของโจทก์เรียกร้องให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์เป็นค่าสินไหมทดแทน กรณีละเมิดที่จำเลยฟ้องโจทก์เรียกหนี้ 6,460 บาท ซึ่งโจทก์ได้ชำระหนี้ให้จำเลยด้วยเช็คของผู้มีชื่อไปแล้ว เป็นเหตุให้โจทก์แพ้คดีต้องเสียหาย ถูกยึดทรัพย์ เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และต้องเสียเกียรติยศชื่อเสียง รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 3 แสนบาทเศษ ภายหลังโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเดิมว่า โจทก์ขอถอนคำขอที่ให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนในฟ้องเดิมเสียทั้งสิ้น โดยมีคำขอใหม่ให้บังคับจำเลยใช้เงินค่าเช็ค 6,460 บาท ซึ่งโจทก์ตั้งข้อหาว่าจำเลยยักยอกเช็คที่โจทก์นำเอาไปเป็นประกันชำระหนี้ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือของผู้อื่น อันจำเลยจะต้องรับผิดชอบใช้เงินแทนให้โจทก์ จำนวนทุนทรัพย์ตามคำร้องดังกล่าวมิได้รวมอยู่ในจำนวนค่าสินไหมทดแทนตามคำฟ้องเดิม แต่เป็นการตั้งทุนทรัพย์เรียกร้องขึ้นใหม่ จึงมิใช่เป็นการขอลดจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในฟ้องเดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 (1) และการที่โจทก์ตั้งข้อหาว่า จำเลยยักยอกเช็ค ขอให้จำเลยใช้เงินค่าเช็คนั้น ก็เป็นการตั้งข้อหาใหม่เปลี่ยนแปลงข้อหาในฟ้องเดิม มิใช่เป็นการสละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ โดยวิธีเสนอคำฟ้องเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 (2)

ย่อยาว

โจทก์ยื่นคำร้องขอฟ้องอย่างคนอนาถา โดยฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นธนาคารพาณิชย์ ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่จังหวัดพระนคร จำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการสาขาธนาคารจำเลยที่ ๑ ที่จังหวัดตรัง และจำเลยที่ ๓ เป็นสมุหบัญชี จำเลยได้ออกตั๋วแลกเงินให้โจทก์ ๓ ฉบับ ฉบับแรกเลขที่ ๖๕/๑๒๕๐ จำนวนเงิน ๖,๔๖๐ บาท โจทก์ได้มอบเช็คในบัญชีของนายมานิตย์ โชติพิมล เลขที่ เค.๐๓๔๓๑๐๙ เงิน ๖,๔๖๐ บาทให้เป็นการชำระหนี้ ลงวันที่สั่งจ่ายล่วงหน้าห่างวันตั๋วแลกเงินถึงกำหนดจ่าย ๑๕ วัน จำเลยคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ตามประเพณีธนาคาร ต่อมาจำเลยที่ ๑ โดยรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ ๒ – ๓ ได้ยื่นฟ้องโจทก์เรียกเงินตามตั๋วแลกเงินฉบับแรกดังกล่าวจำนวน ๖,๔๖๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย โดยอ้างว่าโจทก์ยังไม่ได้ชำระหนี้ โจทก์ต่อสู้ว่า ได้ชำระหนี้โดยเช็คของนายมานิตย์แล้ว เป็นเหตุให้โจทก์แพ้คดี ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายและถูกยึดทรัพย์ ต่อมาจำเลยได้นำสมุดโลคอลบิลล์บุ๊คแสดงต่อศาล โจทก์จึงได้เห็นความจริงว่า โจทก์ได้ชำระหนี้รายที่โจทก์ถูกฟ้องนั้นจริง แต่ปรากฏว่าได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงขีดฆ่าเอกสารเสีย จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องแพ้คดี การกระทำของจำเลยเป็นการร่วมกันจงใจละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คือ โจทก์ถูกยึดทรัพย์บังคับคดีในกรณีที่จำเลยที่ ๑ – ๒ ฟ้องโจทก์เรียกเงินดังกล่าว คือ อาคารโรงเรือนราคา ๕๐,๐๐๐ บาท โรงรถซึ่งเสียค่าก่อสร้าง ๕,๐๐๐ บาท ที่ตัวอาคารมีห้องน้ำส้วมซึ่งเสียค่าก่อสร้าง ๕,๐๐๐ บาท มีบ่อน้ำซึ่งเสียค่าก่อสร้าง ๕,๐๐๐ บาท และอาคารโรงเรือนนี้โจทก์เช่าที่ดินนายสุทธิเป็นรายเดือน ๆ ละ ๗๐๐ บาท ถูกยึดมา ๒๐ เดือน คิดเป็นเงิน ๘,๐๕๐ บาท ในการเช่าที่ดิน โจทก์ต้องเสียค่าปราบที่ถมดิน ๑๐,๐๐๐ บาท โจทก์มีอาชีพจำหน่ายเครื่องเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งมีคนงาน ๑๐ คน โจทก์ได้รายได้จากคนงานเหล่านี้เพิ่มขึ้นเป็นเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีนั้น ๔,๐๐๐ บาท และโจทก์ขอคิดค่าเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง ๒๐๐,๐๐๐ บาทอีกด้วย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๗๗,๐๕๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้พร้อมด้วยดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นสอบถาม โจทก์แถลงว่า คดีที่จำเลยฟ้องโจทก์เรียกเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น คดีถึงที่สุด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลที่จะฟ้องร้องไม่จำเป็นที่จะไต่สวนคำร้องขออนาถาของโจทก์ ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยละเมิดอย่างไร เป็นฟ้องที่ไม่ได้แสดงให้เป็นที่พอใจศาลว่า คดีของโจทก์มีมูลที่จะฟ้องร้อง ที่สมควรจะอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีอย่างคนอนาถา จึงให้ยกคำร้องของโจทก์ ถ้าโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปให้โจทก์นำค่าธรรมเนียมมาชำระภายใน ๑๕ วัน
โจทก์ฎีกา แต่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับ เพราะเห็นว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ถึงที่สุดแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๖ วรรคท้าย
โจทก์จึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง โดยขอลดจำนวนทุนทรัพย์ในฟ้องเดิมคงเหลือ ๖,๔๖๐ บาท และขอเพิ่มเติมฟ้องเดิมว่า “จำเลยได้กระทำเองหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำ ทำลายหลักฐานการชำระหนี้ของโจทก์ โดยเอาหมึกสีดำป้ายปิดทับรายการเช็คของโจทก์ในโลคอลบิลล์บุ๊คเสีย แล้วยักยอกเช็คราคา ๖,๔๖๐ บาท ที่โจทก์นำเอาไปเป็นประกันชำระหนี้ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือของผู้อื่น ซึ่งจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดชอบใช้เงินแทนให้โจทก์” กับขอแก้ไขคำขอท้ายฟ้อง โดยขอถอนคำขอข้อ ๑, ๒ (ซึ่งขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยดอกเบี้ย) และเพิ่มเติมว่า “๑. ขอให้จำเลยใช้เงินค่าเช็ค ๖,๔๖๐ บาทให้โจทก์” กับโจทก์ขอนำค่าธรรมเนียมมาชำระในทุนทรัพย์ ๖,๔๖๐ บาทพร้อมคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำฟ้องเดิมไม่ได้เรียกร้องเงินจำนวนนี้ไว้ จึงไม่เกี่ยวพันกับคำฟ้องเดิม และโจทก์ยื่นขอลดทุนทรัพย์เพื่อหลีกเลี่ยงคำสั่งศาลอุทธรณ์ จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้องเสีย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๙ (๑) (๒) โจทก์อาจแก้ไขคำฟ้องของตนได้โดยเพิ่มหรือลดจำนวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือสละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ โดยวิธีเสนอคำฟ้องเพิ่มเติม ฯลฯ ตามคำฟ้องเดิมของโจทก์ในคดีนี้ โจทก์เรียกร้องให้จำเลยร่วมกันใช้เงินให้โจทก์ ๓๗๗,๐๕๐ บาท เป็นค่าสินไหมทดแทนกรณีละเมิดที่จำเลยฟ้องโจทก์เรียกเงิน ๖,๔๖๐ บาทตามตั๋วแลกเงินซึ่งโจทก์ได้ชำระหนี้รายนี้ให้จำเลยด้วยเช็คของนายมานิตย์ไปแล้ว เป็นเหตุให้โจทก์แพ้คดีต้องเสียหายถูกยึดทรัพย์ เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และต้องเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น ๓๗๗,๐๕๐ บาท ส่วนตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเดิมนี้ มีใจความว่า โจทก์ขอถอนคำขอที่ให้บังคับจำเลยร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน ๓๗๗,๐๕๐ บาท ในฟ้องเดิมเสียทั้งสิ้น โดยมีคำขอใหม่ให้บังคับจำเลยใช้เงินค่าเช็ค ๖,๔๖๐ บาท ซึ่งโจทก์ได้ตั้งข้อหาว่าจำเลยยักยอกเช็คราคา ๖,๔๖๐ บาทที่โจทก์นำเอาไปเป็นประกันชำระหนี้ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือของผู้อื่นอันจำเลยจะต้องรับผิดชอบใช้เงินแทนให้โจทก์ ดังนี้ เห็นได้ว่า จำนวนทุนทรัพย์ ๖,๔๖๐ บาทในคำร้องที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเดิมหาได้รวมอยู่ในจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทน ๓๗๗,๐๕๐ บาทที่โจทก์เรียกร้องในฟ้องเดิมไม่ แต่เป็นเงินค่าเช็คที่โจทก์ตั้งทุนทรัพย์เรียกร้องขึ้นใหม่ มิได้เกี่ยวข้องกับจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทเดิมอย่างใดเลย การขอแก้ไขจำนวนทุนทรัพย์ดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการขอลดจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในฟ้องเดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๙ (๑) ทั้งการที่โจทก์ตั้งข้อหาว่าจำเลยยักยอกเช็ค ๖,๔๖๐ บาท ขอให้จำเลยใช้ค่าเช็คจำนวนนี้ก็เป็นการตั้งข้อหาใหม่ เปลี่ยนแปลงข้อหาในฟ้องเดิมซึ่งโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยฟ้องโจทก์เป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหายทั้งหมด มิใช่เป็นการสละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อหรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ โดยวิธีเสนอคำฟ้องเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๙ (๒) การแก้ไขคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบที่จะกระทำได้ ศาลล่างได้ยกคำร้องของโจทก์ชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share