คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9658/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องจะเกิดสิทธิหรืออำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้ก็ต่อเมื่อได้มีการจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นให้แก่ผู้คัดค้านแล้วตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสี่และมาตรา 30
ในการจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ทางสำนักงานอนุญาโตตุลาการได้ขอให้สำนักกฎหมาย ก. เป็นผู้จัดส่งให้แก่ผู้คัดค้านตามเงื่อนไขในมาตรา 77 ของข้อบังคับอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยจัดส่งแก่ผู้คัดค้านตามที่อยู่ที่ระบุให้โดยจดหมายทั่วไป และให้ทำรายงานการจัดส่งกลับคืนไป ต่อมาสำนักกฎหมาย ก. ได้มีหนังสือตอบกลับว่าได้จัดการส่งสำเนาคำชี้ขาดและหนังสือของสำนักงานอนุญาโตตุลาการให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว แต่การส่งสำเนาคำชี้ขาดทางไปรษณีย์ธรรมดาไม่ลงทะเบียนย่อมไม่มีหลักฐานว่าผู้คัดค้านได้รับคำชี้ขาดนั้น ประกอบกับผู้ร้องมิได้ส่งคำแปลข้อบังคับอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นภาษาไทยต่อศาล โดยเฉพาะข้อความในข้อ 77 ที่ผู้ร้องอ้างก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านมีการตกลงกันว่าไม่ต้องทำคำแปลหรือศาลอนุญาตให้ส่งโดยไม่ต้องทำคำแปลตามที่ได้กำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้ในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 23 ทั้งผู้คัดค้านก็โต้เถียงอยู่ว่า ข้อบังคับของอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนข้อ 76 และ ข้อ 77 มิได้ระบุชัดเจนถึงวิธีการจัดส่งเอกสารเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ หนังสือบอกกล่าวและเอกสารให้แก่คู่กรณีไว้ และข้อความในข้อ 76 และข้อ 77 ก็มิได้ระบุแจ้งชัดว่าอนุญาตให้มีการจัดส่งเอกสารต่าง ๆ โดยวิธีธรรมดาได้ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า การส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่ผู้คัดค้านตามวิธีการที่ผู้ร้องได้นำสืบมานั้นถูกต้องตามข้อบังคับของอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อันเป็นการเพียงพอให้ถือได้ว่าได้มีการจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงผู้คัดค้านโดยชอบตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 แล้ว
สำนักกฎหมาย ก. มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่าสำนักกฎหมาย ก. มีชื่อเสียงเป็นที่เชื่อถือระหว่างประเทศได้มากน้อยเพียงใด ทั้งข้อความในหนังสือรับรองของสำนักกฎหมาย ก. ก็ได้ความเพียงว่าได้จัดส่งสำเนาคำชี้ขาดและเอกสารต่าง ๆ ให้แก่ผู้คัดค้านแล้วทางไปรษณีย์แต่การส่งจดหมายหรือเอกสารทางไปรษณีย์ธรรมดาระหว่างประเทศต้องมีการขนส่งโดยพาหนะหลายทอดหลายตอน จึงเป็นการไม่แน่นอนว่าจดหมายหรือเอกสารที่ส่งไปโดยวิธีดังกล่าวจะไปถึงผู้รับในอีกประเทศหนึ่งได้อย่างเรียบร้อย เมื่อผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่พิสูจน์ได้ว่าผู้คัดค้านได้รับสำเนาคำชี้ขาดดังกล่าว หรือสำเนาคำชี้ขาดได้มีการส่งไปถึงสำนักงานของผู้คัดค้านแล้ว แม้ ว. ผู้ช่วยหัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์จะเบิกความว่าการส่งไปรษณีย์ธรรมดาจะไม่มีหลักฐานการตอบรับจากผู้รับ และหากส่งได้ก็จะไม่มีการบันทึกการส่งได้ไว้หากส่งไม่ได้ไปรษณีย์ผู้ส่งจะบันทึกลงบนไปรษณียภัณฑ์นั้นถึงเหตุที่ส่งไม่ได้และจัดการส่งคืนผู้ฝากส่ง และแม้จะไม่ปรากฏว่าหนังสือแจ้งคำชี้ขาดที่ส่งไปให้แก่ผู้คัดค้านได้มีการส่งกลับคืนไปเพราะส่งไม่ได้ก็ตาม ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าได้มีการส่งสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการถึงผู้คัดค้านแล้ว ผู้ร้องจึงยังไม่มีอำนาจที่จะร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 30 ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านได้ทำสัญญาขายแผ่นโพลีเอสเตอร์กึ่งด้าน(คุณภาพเส้นใยเกรดเอ) จำนวน 504 ตัน เป็นเงิน 778,680 ดอลลาร์สหรัฐแก่ผู้ร้องหากพบว่าคุณภาพของสินค้ามิได้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา ผู้ซื้อมีสิทธิปฏิเสธการรับมอบสินค้าและผู้ขายต้องนำสินค้ากลับคืน พร้อมกับคืนราคาสินค้าที่ได้ชำระไปรวมค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการขนส่งสินค้า การเก็บสินค้า การประกันภัยและการตรวจสอบแก่ผู้ซื้อ ข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาฉบับนี้ ให้คู่กรณีนำเสนอต่อคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด สำนักงานตรวจสอบสินค้านำเข้าและส่งออกแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ตรวจพบว่าสินค้าตามสัญญาซื้อขายไม่มีคุณภาพตามที่กำหนดในสัญญาซื้อขาย ผู้คัดค้านชำระเงินคืนแก่ผู้ร้องบางส่วน จากนั้นผู้คัดค้านเพิกเฉย ผู้ร้องจึงนำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าสินค้าที่ค้างชำระแต่ผู้คัดค้านมิได้ชำระเงินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ก ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) ขอให้บังคับผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 163,245.16 ดอลลาร์สหรัฐ และ 92,064.40 หยวนเหรินหมินปี้ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันยื่นคำร้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องยังมิได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนแก่ผู้คัดค้าน สิทธิในการร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดจึงยังไม่เกิด คำชี้ขาดตามคำร้องขอไม่สามารถบังคับได้เพราะมิได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบล่วงหน้าถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการและการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ผู้ร้องจึงนำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการมิได้ขอให้ยกคำร้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งคณะกรรมการเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 147,790.36 ดอลลาร์สหรัฐ และ 83,357.2 หยวน เหรินหมินปี้ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงินทั้งสองจำนวน นับแต่วันที่ 22 กันยายน2540 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราอ้างอิงของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่มีคำพิพากษานี้ ถ้าไม่มีอัตราอ้างอิงในวันดังกล่าวก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราอ้างอิงนั้นก่อนวันพิพากษา ทั้งนี้เมื่อคำนวณเป็นเงินไทยณ วันยื่นคำร้องต้องไม่เกิน 7,196,153.01 บาท และเงินต้นที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณดอกเบี้ยในวันถัดจากวันยื่นคำร้องต้องไม่เกิน 6,323,619.48 บาท

ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2539 ผู้คัดค้านได้ทำสัญญาขายแผ่นโพลีเอสเตอร์กึ่งด้าน (คุณภาพเส้นใยเกรดเอ) จำนวน 504 ตัน ในราคาตันละ 1,545 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงิน 778,680 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ผู้ร้อง โดยตกลงกันว่าให้สำนักงานตรวจสอบสินค้านำเข้าและส่งออกแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้ชี้ขาดเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้า หากพบว่าคุณภาพของสินค้ามิได้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญาผู้ซื้อมีสิทธิปฏิเสธการรับมอบสินค้าและผู้ขายต้องนำสินค้ากลับคืนพร้อมกับคืนค่าสินค้าที่ได้ชำระไป รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการขนส่งสินค้า การเก็บสินค้าการประกันภัยและการตรวจสอบแก่ผู้ซื้อ ข้อพิพาทเกี่ยวเนื่องกับสัญญาให้คู่กรณีนำเสนอต่อคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด สำนักงานตรวจสอบสินค้านำเข้าและส่งออกแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนตรวจพบว่าสินค้าของผู้คัดค้านที่ส่งไปไม่มีคุณภาพตามที่กำหนดในสัญญา เนื่องจากมีสิ่งสกปรกปะปนอยู่ไม่สามารถใช้ในการผลิตเส้นใยดาครอนชนิดยาวโดยใช้ความเร็วสูงได้ ผู้ร้องกับผู้คัดค้านจึงทำความตกลงกันโดยผู้คัดค้านมอบหมายให้ผู้ร้องจำหน่ายสินค้าแผ่นโพลีเอสเตอร์ส่วนที่เหลือจำนวน 406 ตัน ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องสามารถขายสินค้าดังกล่าวได้เป็นเงิน 337,469.87 ดอลลาร์สหรัฐ และผู้คัดค้านได้ชำระราคาค่าสินค้าคืนแก่ผู้ร้องอีกจำนวน 63,408.68 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้ร้องได้เรียกร้องให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าสินค้าพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายอีกจำนวนหนึ่ง แต่ผู้คัดค้านเพิกเฉยผู้ร้องจึงนำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2539 ผู้คัดค้านมิได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ มิได้ยื่นคำคัดค้านและมิได้ร่วมการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2540 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านรับผิดชำระเงินค่าสินค้าที่ค้างชำระ ค่าเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนการพิจารณาอนุญาโตตุลาการและค่าทนายความ รวมเป็นเงิน 147,790.36ดอลลาร์สหรัฐ และ 83,357.2 หยวน เหรินหมินปี้ แก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านมิได้ชำระเงินตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องเป็นคดีนี้ ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนต่างเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ก ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านเป็นข้อแรกว่า ผู้ร้องได้จัดส่งสำเนาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนถึงผู้คัดค้านแล้วหรือไม่ ในข้อนี้ผู้คัดค้านปฏิเสธและนำสืบว่า ผู้ร้องยังมิได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้แก่ผู้คัดค้าน เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสี่ บัญญัติว่า เมื่อทำคำชี้ขาดแล้ว อนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดจะต้องจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดนั้นถึงคู่กรณีที่เกี่ยวข้องทุกคน และในหมวดที่ 2 ที่ว่าด้วยการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ มาตรา 30 บัญญัติให้คู่กรณีฝ่ายที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีตามมาตรา 21 วรรคสี่ แสดงว่าผู้ร้องจะเกิดสิทธิหรืออำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้ก็ต่อเมื่อได้มีการจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดนั้นให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว ดังนั้น หน้าที่นำสืบถึงข้อเท็จจริงข้อนี้ย่อมตกเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องมีนายชินวัฒน์ ชินแสงอร่าม ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องได้เสนอบันทึกถ้อยคำและมาเบิกความต่อศาลว่า ในการจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดนั้นทางสำนักงานอนุญาโตตุลาการได้ขอให้สำนักกฎหมายโกลบอลเป็นผู้จัดส่งให้แก่ผู้คัดค้านตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 77 ของข้อบังคับอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนตามหนังสือที่มีไปถึงสำนักงานกฎหมายโกลบอลเอกสารหมาย ร.29 และคำแปลภาษาไทยเอกสารหมาย ร.32โดยข้อความในหนังสือดังกล่าวระบุให้จัดส่งแก่ผู้คัดค้านตามที่อยู่ที่ระบุให้โดยจดหมายทั่วไป (ไม่ฝากจดหมายลงทะเบียน) และให้ทำรายงานการจัดส่งกลับคืนไปต่อมาสำนักกฎหมายโกลบอลได้มีหนังสือตอบกลับไปว่าได้จัดการส่งสำเนาคำชี้ขาดและหนังสือของสำนักงานอนุญาโตตุลาการให้แก่ผู้คัดค้านแล้วตามหนังสือรับรองการส่งหนังสือเอกสารหมาย ร.30 และคำแปลเป็นภาษาไทยเอกสาร ร.33 ซึ่งมีข้อความว่าขอยืนยันว่าได้จัดส่งสำเนาคำชี้ขาดและหนังสือของสำนักงานอนุญาโตตุลาการให้แก่คู่กรณีแล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ตามชื่อและที่อยู่ที่จัดให้คือ ชื่อผู้คัดค้าน15 ซี ยูนิโก้เฮ้าส์ 29/1 ซอยหลังสวน ถนนเพลินจิต กรุงเทพมหานคร 10330 ประเทศไทย เห็นว่า การส่งสำเนาคำชี้ขาดทางไปรษณีย์ธรรมดาไม่ลงทะเบียนย่อมไม่มีหลักฐานว่า ผู้คัดค้านได้รับคำชี้ขาดนั้นแล้ว ที่ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องมีสิทธิส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่ผู้คัดค้านโดยทางไปรษณีย์ธรรมดา ไม่ต้องลงทะเบียน ตามข้อบังคับอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ข้อ 77 โดยอ้างส่งข้อบังคับอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนตามเอกสารหมาย ร.35 เป็นพยานด้วยนั้น แต่เอกสารหมาย ร.35 มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษและผู้ร้องมิได้ส่งคำแปลเป็นภาษาไทยต่อศาล แม้เฉพาะข้อความในข้อ 77 ที่ผู้ร้องอ้างก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านมีการตกลงกันว่าไม่ต้องทำคำแปลหรือศาลอนุญาตให้ส่งเอกสารหมาย ร.35 โดยไม่ต้องทำคำแปลตามที่ได้กำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้ในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 23 ทั้งผู้คัดค้านก็อุทธรณ์โต้เถียงอยู่ว่า ข้อบังคับของอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ข้อ 76 และข้อ 77มิได้ระบุชัดเจนถึงวิธีการจัดส่งเอกสารเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ หนังสือบอกกล่าวและเอกสารให้แก่คู่กรณีไว้และข้อความในข้อ 76 และข้อ 77 ก็มิได้ระบุแจ้งชัดว่าอนุญาตให้มีการจัดส่งเอกสารต่าง ๆ โดยวิธีธรรมดาได้ตามคำแปลเอกสารท้ายอุทธรณ์พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าการส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่ผู้คัดค้านตามที่วิธีการที่ผู้ร้องได้นำสืบมานั้นถูกต้องตามข้อบังคับของอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอันเป็นการเพียงพอให้ถือได้ว่าได้มีการจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงผู้คัดค้านโดยชอบตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 แล้ว ดังนั้น จึงต้องพิจารณาต่อไปว่าวิธีการจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดที่สำนักกฎหมายโกลบอลดำเนินการจัดส่งให้แก่ผู้คัดค้านทางไปรษณีย์ธรรมดา โดยมีหลักฐานการส่งเป็นหนังสือรับรองของสำนักกฎหมายโกลบอลที่ยืนยันว่าได้มีการจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดไปให้ผู้คัดค้านตามที่อยู่ของผู้คัดค้านที่ผู้ร้องแจ้งไปแล้วตามเอกสารหมาย ร.30 และ ร.33 นั้น มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าได้มีการส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงผู้คัดค้านแล้วหรือไม่ เห็นว่า สำนักกฎหมายโกลบอลมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่าสำนักกฎหมายโกลบอลมีชื่อเสียงเป็นที่เชื่อถือระหว่างประเทศได้มากน้อยเพียงใด ข้อความในหนังสือรับรองของสำนักกฎหมายโกลบอลก็ได้ความเพียงว่าได้จัดส่งสำเนาคำชี้ขาดและเอกสารต่าง ๆ ให้แก่ผู้คัดค้านแล้วทางไปรษณีย์ซึ่งอาจเชื่อถือได้ในเบื้องต้นว่าทางสำนักกฎหมายโกลบอลได้จัดส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่ผู้คัดค้านแล้วทางไปรษณีย์ธรรมดาแต่การส่งจดหมายหรือเอกสารทางไปรษณีย์ธรรมดาระหว่างประเทศต้องมีการขนส่งโดยพาหนะหลายทอดหลายตอน จึงเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนว่าจดหมายหรือเอกสารที่ส่งไปโดยวิธีการดังกล่าวจะไปถึงยังผู้รับในอีกประเทศหนึ่งได้อย่างเรียบร้อยเมื่อผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่อาจพิสูจน์ได้ว่าผู้คัดค้านได้รับสำเนาคำชี้ขาดดังกล่าว หรือสำเนาคำชี้ขาดได้มีการส่งไปถึงยังสำนักงานของผู้คัดค้านแล้วแม้ผู้ร้องจะมีนายวีระ ปรางค์ชัยกุล ผู้ช่วยหัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์รองเมืองมาเบิกความว่า การส่งไปรษณีย์ธรรมดาจะไม่มีหลักฐานการตอบรับจากผู้รับ และหากส่งได้ก็จะไม่มีการบันทึกการส่งได้ไว้ หากส่งไม่ได้ไปรษณีย์ผู้ส่งจะบันทึกลงบนไปรษณีย์ภัณฑ์นั้นถึงเหตุที่ส่งไม่ได้ และจัดการส่งคืนผู้ฝากส่ง ซึ่งทางนำสืบของผู้ร้องไม่ปรากฏว่าหนังสือแจ้งคำชี้ขาดที่ส่งไปให้แก่ผู้คัดค้านได้มีการส่งกลับคืนไปเพราะส่งไม่ได้ก็ตาม ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าได้มีการส่งสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการถึงผู้คัดค้านซึ่งจะต้องถูกบังคับตามคำชี้ขาดแล้ว ผู้ร้องจึงยังไม่มีอำนาจที่จะร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในข้อนี้ฟังขึ้น คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านในข้ออื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป”

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง

Share