คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 964/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การวินิจฉัยลายมือชื่อในเอกสารว่าเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ไม่มีกฎหมายบังคับว่าศาลต้องฟังข้อพิสูจน์เป็นหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญก่อนแต่อย่างใดและสิ่งใดที่บุคคลธรรมดาอาจตรวจเห็นได้แล้ว ศาลก็ย่อมตรวจเห็นเองได้ ดังนั้นศาลจึงมีอำนาจตรวจสอบลายมือชื่อของโจทก์ในเอกสารหลายฉบับในสำนวนเปรียบเทียบกันเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดว่าลายมือชื่อเจ้าของรถในคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ได้ เมื่อข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยไม่ตรงตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้งศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อรถยนต์ยี่ห้อมาสด้า 626 ชนิด 5 ประตูจากจำเลยโดยตัวแทนจำหน่ายสาขานนทบุรี รวมราคาและค่าภาษีป้ายทะเบียนเป็นเงิน 392,750 บาท โจทก์ชำระราคาเงินสดให้จำเลยทั้งหมดแล้ว ต่อมาปลายเดือนมีนาคม 2529 จำเลยตกลงให้โจทก์เปลี่ยนเป็นซื้อรถยนต์ชนิด 2 ประตู และรับราคาเพิ่มจากโจทก์อีก25,000 บาท จำเลยมอบรถยนต์ชนิด 2 ประตู หมายเลขทะเบียน1ฉ-2974 กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์และรับรถยนต์คันเดิมคืนไปแล้วส่วนคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์จำเลยตกลงว่าจะมอบให้เมื่อโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนเป็นชื่อของโจทก์แล้ว แต่ต่อมาปรากฏว่าจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนให้โจทก์ไม่ได้เพราะนายวิสุทธิ์ ขุมทองลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยได้ทุจริตปลอมลายมือชื่อโจทก์โอนทะเบียนรถยนต์เป็นของตนเสียแล้วนำไปทำสัญญาเช่าซื้อไว้กับบริษัทซิตี้ลิสซิ่ง จำกัด ขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ทะเบียนรถยนต์โดยโอนชื่อในคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์เป็นชื่อโจทก์ และส่งมอบแก่โจทก์ หรือให้จำเลยชำระเงิน 417,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และรับรถยนต์คืนไปจากโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบตั้งแต่ขณะติดต่อซื้อขายแล้วว่า เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องมารับคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์จากจำเลยด้วยตนเอง นายวิสุทธิ์ ขุมทอง เป็นตัวแทนจำเลยเฉพาะในการติดต่อซื้อขายรถยนต์เท่านั้น ไม่มีหน้าที่นำคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ไปมอบให้แก่ลูกค้า จำเลยจัดการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ทางทะเบียนเป็นของโจทก์แล้ว แต่โจทก์กลับมอบให้นายวิสุทธิ์เป็นตัวแทนมารับไปจากจำเลยเมื่อเกิดผิดสัญญากัน โจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายโดยอ้างการเป็นนายจ้าง ลูกจ้างระหว่างจำเลยกับนายวิสุทธิ์หาได้ไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจัดการโอนทะเบียนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ฉ-2974 กรุงเทพมหานคร ให้โจทก์หากจัดการโอนไม่ได้ ให้จำเลยใช้เงิน 377,750 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยรับรถยนต์คืนจากโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ฉ-2974 กรุงเทพมหานครจากจำเลยในราคา 417,750 บาท โดยซื้อจากนายวิสุทธิ์ ขุมทองพนักงานขายของจำเลย สาขานนทบุรีโจทก์ชำระราคารถยนต์ให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว จำเลยได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปตรวจสภาพและจดทะเบียนโอนเป็นชื่อโจทก์ และนายวิสุทธิ์ได้รับคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ไปจากสำนักงานใหญ่ของจำเลยเพื่อนำไปมอบให้แก่โจทก์ แต่กลับปรากฏจากหลักฐานทางทะเบียนว่า โจทก์ได้โอนขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายวิสุทธิ์ แล้วนายวิสุทธิ์โอนขายต่อให้แก่บริษัทซิตี้ลิสซิ่ง จำกัด ซึ่งความข้อนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเชื่อว่า นายวิสุทธิ์เป็นผู้รับคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ไปจากสำนักงานใหญ่ของจำเลยในฐานะตัวแทนของจำเลยแล้วปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในช่องลายมือชื่อเจ้าของรถซึ่งโจทก์ยังไม่ได้ลงชื่อไว้ และนำไปโอนทะเบียนขายรถยนต์คันดังกล่าวแก่บริษัทซิตี้ลิสซิ่ง จำกัด เป็นการฉ้อโกงโจทก์ มีผลเท่ากับว่าจำเลยผิดสัญญาไม่จดทะเบียนโอนรถยนต์ให้แก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยอ้างเหตุผลประการแรกว่า จำเลยได้มอบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์แล้ว ในข้อนี้แม้ว่าจำเลยจะมีนายประวิทย์ วิทย์เชียรชัย และร้อยตำรวจโทศิริลักษณ์ พรหมบุญตาเบิกความตรงกันว่า จำเลยได้จดทะเบียนรถยนต์ให้เป็นชื่อของโจทก์แล้วตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ซึ่งเป็นเอกสารของทางราชการดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาก็ตามแต่พยานโจทก์ทั้งสองคนดังกล่าวก็หาได้เบิกความยืนยันว่า จำเลยได้มอบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย ล.2 ให้แก่โจทก์ไม่ โดยเฉพาะนายประวิทย์เบิกความแต่เพียงว่า เมื่อจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทเสร็จแล้ว พยานเป็นผู้ไปรับคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์จากกองทะเบียนนำไปมอบให้แก่ฝ่ายธุรการทะเบียนสำนักงานใหญ่ของจำเลย แต่พยานไม่ทราบว่าฝ่ายธุรการทะเบียนจะมอบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์แก่โจทก์หรือไม่และแม้ต้นฉบับทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย ล.1 และคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์เอกสารหมายเลข ล.2 ซึ่งเป็นเอกสารทางราชการจะรับฟังได้ว่าจำเลยได้จดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้เป็นชื่อของโจทก์แล้วก็ตามแต่พยานเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวก็หาได้เป็นหลักฐานยืนยันว่าจำเลยได้มอบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์แล้ว
จำเลยอ้างเหตุโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประการต่อไปว่าที่ศาลอุทธรณ์ตรวจสอบลายมือชื่อของโจทก์ที่ลงไว้ในใบรับรถเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 กับใบแต่งทนายความและบันทึกคำให้การของโจทก์ในสำนวนเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของเจ้าของรถในคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย ล.2 แล้ววินิจฉัยว่าลายมือชื่อเจ้าของรถในคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์เป็นการพิจารณาที่ไม่ถูกต้อง เพราะต้องมีการพิสูจน์เป็นหลักฐานโดยพยานผู้เชี่ยวชาญจากกองพิสูจน์หลักฐาน นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการวินิจฉัยลายมือชื่อในเอกสารว่าเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ไม่มีกฎหมายบังคับว่าศาลต้องฟังข้อพิสูจน์เป็นหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญก่อนแต่อย่างใด และสิ่งใดที่บุคคลธรรมดาอาจตรวจเห็นได้แล้ว ศาลก็ย่อมตรวจเห็นเองได้ ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจตรวจสอบลายมือชื่อของโจทก์ในเอกสารหลายฉบับในสำนวนเปรียบเทียบกัน เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดว่า ลายมือชื่อเจ้าของรถในคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย ล.2 ไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ได้
จำเลยฎีกาอ้างเหตุโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไปว่าประเด็นที่ศาลอุทธรณ์นำราคาซื้อขายมาเป็นข้อพิจารณาส่อพิรุธของนายวิสุทธิ์และเชื่อว่าโจทก์ไม่น่าจะขายรถยนต์คันพิพาทให้แก่นายวิสุทธิ์ในราคา 200,000 บาทนั้น ศาลฎีกาตรวจพิเคราะห์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้แล้ว ศาลอุทธรณ์เพียงแต่วินิจฉัยว่าตามพฤติการณ์แห่งคดีก็ไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่า โจทก์จะขายรถยนต์คันพิพาทที่เพิ่งซื้อให้แก่นายวิสุทธิ์ หาได้นำราคาซื้อขายที่เป็นพิรุธมาวินิจฉัยเชื่อว่าโจทก์ไม่ได้ขายรถยนต์คันพิพาทให้แก่นายวิสุทธิ์ไม่ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า “ที่นายวิสุทธิ์นำรถยนต์คันพิพาทไปขายให้แก่บริษัทซิตี้ลิสซิ่งจำกัด ในราคาเพียง 200,000 บาท เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาที่แท้จริงประมาณ 1 เท่าตัว จึงส่อพิรุธ” นั้นเป็นเหตุผลแห่งการวินิจฉัยอีกส่วนหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นประกอบเหตุผลอื่น เพื่อสรุปผลแห่งคำวินิจฉัยในที่สุดว่า นายวิสุทธิ์กระทำการฉ้อโกงโจทก์ซึ่งมีผลเท่ากับว่าจำเลยผิดสัญญาไม่โอนทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์นั่นเองข้ออ้างตามฎีกาข้อนี้ของจำเลย จึงไม่ตรงตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
สำหรับปัญหาเกี่ยวกับการใช้ราคารถยนต์ให้แก่โจทก์ที่จำเลยฎีกาความว่า ศาลล่างกำหนดให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์โดยหักค่าเสื่อมราคาการใช้รถยนต์จากราคาทั้งหมดเพียงปีเดียวเป็นเงิน40,000 บาท เป็นการไม่ชอบ ควรจะหักค่าเสื่อมราคาการใช้รถยนต์เป็นเวลา 4 ปีนั้น เห็นว่าขณะฟ้องโจทก์เพิ่งใช้รถยนต์ได้เพียงประมาณ 9 เดือน จึงไม่มีเหตุอย่างใดที่จะหักค่าเสื่อมราคาการใช้รถยนต์เป็นเวลาเกินกว่าที่โจทก์ได้ใช้ไป ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลยพินิจกำหนดให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ในกรณีที่จะต้องรับรถยนต์คืนเพราะโอนทะเบียนให้โจทก์ไม่ได้เหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน

Share