คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 964/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่ง เป็นนายจ้างที่กำหนดให้จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างผู้ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายกันนั้น ต้อง อยู่ภายใต้บังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) โจทก์ลูกจ้างทำร้าย บ. แต่ไม่เป็นเหตุให้ บ. ได้ รับอันตรายแก่กายและจิตใจ เกิดเหตุในห้องครัว ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ ชื่อเสียงของจำเลยไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีที่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดย มิได้ตักเตือน เป็นหนังสือก่อน ดังนี้ จำเลยต้อง จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่ผู้ช่วยคนครัว ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ11,531 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 3กรกฎาคม 2532 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินสมทบ ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 69,186 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 22,678 บาท และเงินสมทบจำนวน 6,527 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยเข้าทำงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2529 ได้เงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 6,750 บาท ค่าอาหารอีก 200 บาท ค่าบริการในเดือนสุดท้าย3,600 บาท รวม 10,550 บาท แต่ค่าอาหาร 200 บาทนั้น จำเลยไม่เคยจ่ายให้แก่โจทก์แต่ให้เป็นสวัสดิการ โดยพนักงานของจำเลยมีสิทธิรับประทานอาหารของโรงแรม ค่าอาหารจึงไม่ใช่ค่าจ้างส่วนค่าบริการเป็นเงินที่จำเลยเรียกเก็บจากแขกผู้มาพักอาศัยและใช้บริการต่าง ๆภายในโรงแรมของจำเลยแทนพนักงาน โดยเรียกเก็บเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ10 จากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามปกติแล้วให้เจ้าหน้าที่การเงินรวบรวมไว้หากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากแขกผู้อาศัยและใช้บริการแล้ว จำเลยจะนำเงินจำนวนนี้ไปชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงนำมาเฉลี่ยให้แก่พนักงานของจำเลยทุกคนเท่า ๆ กัน ซึ่งในแต่ละเดือนพนักงานของจำเลยจะได้รับเงินค่าบริการเป็นจำนวนไม่แน่นอน ค่าบริการดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ปฏิบัติงานอยู่ในแผนกครัวของห้องอาหารไชน่าทาวน์ภายในโรงแรมของจำเลยโจทก์ได้ทำร้ายนางสาวใบบุญ มั่นสุวรรณ เพื่อนพนักงานในครัวด้วยการชกต่อย เป็นเหตุให้นางสาวใบบุญได้รับอันตรายแก่กายหลายแห่งขณะเกิดเหตุมีแขกมารับประทานอาหารที่ห้องอาหารดังกล่าวเป็นจำนวนมากแขกตกใจกลัวเพราะได้ยินเสียงดังอันเกิดจากการที่โจทก์ลงมือทำร้ายนางสาวใบบุญ ซึ่งแขกหลายรายต่างตำหนิโรงแรมของจำเลยว่าปล่อยปละละเลยไม่ดูแลพนักงานให้ดี การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายทั้งต่อชื่อเสียงและทรัพย์สิน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า สำหรับเงินสมทบจำเลยมีระเบียบว่าด้วยเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานไว้ โดยจำเลยจะหักเงินเดือนของโจทก์ทุกเดือนไว้ร้อยละ 5 ของเงินเดือน เรียกว่าเงินสะสมและจำเลยจะจ่ายสมทบให้อีกเท่ากับจำนวนเงินที่หักจากเงินเดือนของพนักงานนำไปฝากไว้กับบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม จำกัด เพื่อให้ทำการบริหารกองทุนสำหรับเงินสะสมและเงินสมทบดังกล่าวเพื่อหาประโยชน์ และนับตั้งแต่โจทก์เข้าทำงานในบริษัทจำเลยระหว่าง3 ปี ถึง 5 ปี มีสิทธิได้รับเงินสมทบร้อยละ 50 ซึ่งเท่ากับ5,737.50 บาท เท่านั้น ตามระเบียบของจำเลยมีเงื่อนไขว่า โจทก์ต้องออกจากงานโดยมิได้มีความผิดตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจึงจะมีสิทธิได้รับเงินสมทบ เมื่อโจทก์ออกจากงานเพราะกระทำความผิดตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิไม่จ่ายเงินสมทบให้แก่โจทก์
วันนัดพิจารณา ศาลสอบโจทก์แล้วยอมรับว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,750 บาท ส่วนค่าอาหาร 200 บาท นั้น โจทก์ไม่ได้รับเป็นตัวเงินเป็นเรื่องจำเลยกำหนดให้และให้รับประทานอาหารได้วันละ 2 มื้อ ส่วนค่าบริการเป็นเงินที่เก็บมาจากผู้ที่มาใช้บริการร้อยละ 10 แล้วเอามาแบ่งเฉลี่ยให้พนักงาน ทำให้พนักงานที่ทำงานด้านบริการได้รับเงินจำนวนนี้เท่ากัน แต่จำนวนเงินจะไม่เท่ากันทุกเดือน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 40,500 บาทให้โจทก์ คำขออย่างอื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยว่า จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์เป็นการผิดระเบียบข้อบังคับ ข้อ 8.3(6) ของจำเลยอย่างร้ายแรงและเป็นความผิดกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เห็นว่า ตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทดุสิตธานี จำกัด (จำเลย) เอกสารหมาย ล.2 ข้อ 8.3 กำหนดไว้ว่า “พนักงานที่กระทำผิดทางวินัยตามที่กำหนดไว้ในข้อนี้ โรงแรมฯจะพิจารณาเลิกจ้างทันที โดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยใด ๆ
(1) – (5)…
(6) เป็นผู้ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ขู่เข็ญหรือชักจูงให้ก่อเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างพนักงานด้วยกันเอง หรือกระทำต่อผู้บังคับบัญชาในบริเวณโรงแรม ทั้งในและนอกเวลาทำงาน…”การที่โจทก์ชกต่อยนางสาวใบบุญ มั่นสุวรรณ พนักงานด้วยกันเองในห้องครัวและในเวลาทำงานจึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวของจำเลย แต่จำเลยจะลงโทษเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่ จะต้องพิจารณาผลของการกระทำของโจทก์ว่า เป็นการฝ่าฝืนกรณีร้ายแรงหรือไม่เพราะระเบียบข้อบังคับของจำเลยจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) ซึ่งบัญญัติให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะเลิกจ้างลูกจ้างที่ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน คดีนี้ปรากฏว่า จำเลยไม่เคยตักเตือนเป็นหนังสือเกี่ยวกับการกระทำความผิดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยข้อ 8.3(6) มาก่อน จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ต่อเมื่อการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ปัญหานี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2532เวลา 11 นาฬิกาเศษ โจทก์ได้ชกนางสาวใบบุญถูกบริเวณใบหน้าและหน้าอกโดยนางสาวใบบุญไม่ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ สถานที่เกิดเหตุอยู่ในห้องครัว ซึ่งแยกอยู่ต่างหากจากห้องรับประทานอาหาร โดยมีประตูปิดกั้นอยู่ เมื่อเกิดเหตุทำร้ายร่างกายไม่นานก็มีคนมาห้ามเห็นว่า การกระทำของโจทก์เป็นเพียงใช้มือชกต่อยนางสาวใบบุญไม่เป็นเหตุให้นางสาวใบบุญได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ เหตุเกิดในห้องครัวไม่ทำให้แขกของจำเลยตกใจกลัว จึงไม่เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยไม่เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อน จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่…”
พิพากษายืน.

Share