คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 963/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กล่าวฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ที่ 1 ไปโดยให้โจทก์ที่ 2 ค้ำประกัน และจำเลยที่ 1 ได้นำทะเบียนรถยนต์มีชื่อจำเลยที่ 1 มาหลอกโจทก์ทั้ง 2 ว่าเป็นของจำเลยที่ 1 แท้จริงรถคันนั้นจำเลยที่1 ซื้อผ่อนส่งจากบริษัทดีทแฮลม์ ยังผ่อนไม่หมดรถยังเป็นของบริษัทจำเลยที่ 2 ก็ทราบความดังนี้ดี แล้วจำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 ไปบริษัทชำระเงินที่ค้างผ่อนส่งแล้วให้บริษัทโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของนอกจากรถคันนี้แล้วจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอย่างใดอีก
ตามฟ้องของโจทก์ดังกล่าวนี้แสดงว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 2 เป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 เสียเปรียบตรงตามความใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินของโจทก์ที่ 1 ไป 10,000 บาทโดยมีโจทก์ที่ 2 ค้ำประกันและจำเลยที่ 1 ได้นำทะเบียนรถยนต์บรรทุกชนิดฟาโกหมายเลข ส.ห.0016 ปรากฏในทะเบียนว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของมาหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อยึดไว้เป็นประกัน ความจริงรถยนต์นี้เป็นของบริษัทดีทแฮลม์ จำกัด ได้ขายเชื่อเงินผ่อนส่ง (เช่าซื้อ) ให้แก่จำเลยที่ 1 ยังหาได้โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้เป็นของจำเลยที่ 1 ไม่ จำเลยมาหลอกลวงโจทก์ทั้ง 2 ให้ หลงเชื่อ โจทก์ที่ 1 จึงยอมให้กู้และโจทก์ที่ 2 ยอมค้ำประกัน จำเลยที่ 1

ต่อมาจำเลยที่ 1, 2 ไปขอตรวจดูหนังสือสัญญากู้และทะเบียนรถยนต์นั้นจากโจทก์ โดยจำเลยแจ้งว่าจำเลยที่ 2 จะขอไถ่ถอนและชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 จะซื้อรถยนต์นี้จากจำเลยที่ 1 ภายหลังจำเลยทั้งสองเจตนาเอาเปรียบแก่โจทก์กับไปตกลงกับบริษัทดีทแฮลม์ จำกัด ว่าทะเบียนรถยนต์คันนั้นหายจำเลยที่สองจะเป็นชำระเงินงวดที่ค้างอยู่แทนจำเลยที่ 1 ทั้งหมดเป็นเงิน 45,000 บาท บริษัทดีทแฮล์มหลงเชื่อจึงยอมรับเงินผ่อนส่งที่จำเลยที่ 2 ยังค้างส่งอีก 45,000 บาท จากจำเลยที่ 2 บริษัทดีทแฮลม์ จำกัด จึงได้มอบอำนาจการโอนทะเบียนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้จำเลยที่ 2 มาร้องต่อเจ้าพนักงานสถานีตำรวจสิงห์บุรีแก้ทะเบียนและโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้จำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนเสียเปรียบเสียหายในสิทธิอันควรที่ควรได้ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สมบัติอื่นนอกจากรถคันนี้ จำเลยที่ 2 ได้ยึดถือหลักทรัพย์ประกันไปเป็นของตนเสียโดยไม่สุจริต ขอให้จำเลยที่ 1, 2 ช่วยกันใช้ต้นเงิน 10,000 บาท และดอกเบี้ย ถ้าไม่สามารถชำระ ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนรถยนต์ดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เสีย ให้จำเลยส่งมอบรถยนต์เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 จะได้กู้เงินของโจทก์ที่ 1 โดยนำทะเบียนรถยนต์ไปให้ยึดและโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหรือไม่ จำเลยไม่ทราบไม่รู้เห็นด้วยจำเลยไม่เคยไปขอดูสัญญากู้และทะเบียนรถยนต์ดังฟ้อง ฟ้องขอนี้เคลือบคลุมเพราะข้อหาไม่ได้ระบุว่าขอดูที่ไหนตำบลและอำเภอใด

จำเลยที่ 1 มาบอกขายสิทธิการซื้อเชื่อเงินผ่อนส่งให้จำเลยที่ 2 แล้วได้ไปทำการโอนสิทธิซื้อเชื่อเงินผ่อนส่งให้จำเลยที่ 2 ที่บริษัทดีทแฮลม์ จำกัดแล้วโดยสุจริตและเปิดเผย และครอบครองรถยนต์ต่อมาโจทก์ก็ทราบหาคัดค้านไม่และตัดฟ้องว่าหากฟังว่าจำเลยที่ 1กู้เงินของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจริง โจทก์ที่ 1 ก็ชอบที่จะบังคับเอาจากโจทก์ที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 ไม่มีอำนาจบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 1 ก็ยังไม่เคยบังคับเอาจากโจทก์ที่ 2 หากโจทก์ที่ 2 ได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไปแล้วก็มีสิทธิไถ่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 ยังมิได้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลขายรถยนต์ราคา 63,000 บาท ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ตีราคาทุนทรัพย์มา 11,500 บาท ยังไม่ถูกต้อง ขอให้ตีราคาใหม่ 63,000 บาท ฯลฯ ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นตาม มาตรา 24 เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ว่ามีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ และให้เสียค่าธรรมเนียมตามทุนทรัพย์ 63,000 บาท ก่อนชี้ขาดเบื้องต้น

ศาลจังหวัดสิงห์บุรีสั่งคำร้องของจำเลยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องค่าขึ้นศาลที่เรียกไว้สมควรแก่รูปเรื่องแล้ว

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และสั่งให้เรียกค่าธรรมเนียมตามทุนทรัพย์ 63,000 บาท

ศาลจังหวัดสิงห์บุรีสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะที่เกี่ยวด้วยอำนาจฟ้องข้อเดียวส่วนข้อค่าขึ้นศาลไม่รับอุทธรณ์ เพราะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม มาตรา 26

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ในมูลกรณีผิดสัญญากู้เงินจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องรับผิดในการกู้เงินของจำเลยที่ 1 โดยสัญญาแต่ประการใด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดใช้เงินกู้นี้ให้โจทก์ แม้จะเป็นจริงดังโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยสมคบกันโอนรถยนต์ไฟโดยไม่สุจริต โจทก์ก็ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดใช้เงินให้โจทก์ที่ 1 ตามสัญญากู้ไม่ได้ สำหรับโจทก์ที่ 2 แม้จะต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันก็ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้ต้องรับผิดชอบชำระเงินกู้ให้โจทก์ที่ 1

โจทก์ยึดถือทะเบียนรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ไว้เป็นประกัน ไม่ทำให้โจทก์มีทรัพย์สินในรถยนต์คันนี้เพราะไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายกลับปรากฏว่าทะเบียนนั้นปลอม ความจริงบริษัทดีทแฮลม์เป็นเจ้าของไม่ใช่จำเลยที่ 1 เช่นนี้ด้วยแล้วจึงไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิอย่างใดเลยแม้จำเลยที่ 2 จะได้ทราบถึงการกู้การค้ำประกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์อยู่แล้วก็ตาม เมื่อบริษัทดีทแฮลม์เจ้าของอันแท้จริงได้โอนรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 ไป จำเลยที่ 2 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างใดโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ไม่ได้ พิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องของโจทก์นี้เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นั้นโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ทราบดี อยู่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินกู้โจทก์ที่ 1 อยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีกนอกจากรถยนต์คันนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อจากบริษัทดีทแฮลม์และโจทก์มีทางบังคับเอามาชำระหนี้ได้ทั้งสองเจตนาเอาเปรียบโจทก์ โดยไปหลอกลวงบริษัทดีทแฮลม์ จำกัด ขอให้บริษัทใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันนี้ต่อไป การกระทำทั้งนี้เป็นเหตุให้โจทก์ผู้เจ้าหนี้จำเลยที่ 1 เปรียบ โดยจำเลยที่ 2 ทราบความจริงอยู่แล้วตามฟ้องของโจทก์มีข้อความดังนี้ตามบทบัญญัติใน มาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1, 2 อันเป็นเหตุให้โจทก์เสียเปรียบได้

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้ต่อไปตามกระบวนแล้วพิพากษาต่อไปตามกระบวนความ

Share