แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องทั้งสองมี ฉ. ลงชื่อเป็นผู้ร้องและผู้เรียงพิมพ์แต่ในใบแต่งทนายความของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ทั้งสองฉบับที่ระบุแต่งตั้งให้ น. เป็นทนายความของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2กับมี ฉ. ทนายความผู้มีใบอนุญาต ลงลายมือชื่อในคำรับเป็นทนายความไม่ใช่ น. เมื่อผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 มิได้มีเจตนาแต่งตั้งให้ ฉ.เป็นทนายความก็ต้องถือว่าฉ. ลงลายมือชื่อในคำรับเป็นทนายความโดยไม่มีสิทธิ ฉ. จึงมิใช่ทนายความของผู้ร้องทั้งสองและไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในคำร้องขัดทรัพย์แทนผู้ร้องทั้งสองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 62 อย่างไรก็ตามคำร้องขัดทรัพย์เป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 1(3) ต้องลงลายมือชื่อของผู้ร้องทั้งสองตาม มาตรา 67(5)หรือลายมือชื่อของทนายความที่ผู้ร้องทั้งสองแต่งตั้งตาม มาตรา 62เมื่อคำร้องขัดทรัพย์มี ฉ. ลงลายมือชื่อโดยผู้ร้องทั้งสองมิได้แต่งตั้งให้เป็นทนายความ มิใช่เป็นกรณีที่คำร้องไม่มีลายมือชื่อของผู้ร้องตาม มาตรา 67(5) อันจะสั่งให้แก้ไขได้ตามมาตรา 18วรรคหนึ่ง ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องทั้งสองโดยไม่ต้องส่งคืนคำร้องนั้นไปให้แก้ไขมาก่อน.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่า ที่ดินตาม น.ส. 3ก. เลขที่ 3976 กับเลขที่ 3620 และบ้านเลขที่ 39หมู่ที่ 2 ตำบลหนองซอน ซึ่งถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้อ้างว่าเป็นของจำเลยนั้นเป็นของผู้ร้อง ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด คำร้องดังกล่าวมีนายเฉลิมพล สุครีพ ลงชื่อเป็นผู้ร้องและเป็นผู้เรียงพิมพ์แต่ในใบแต่งทนายของผู้ร้องทั้งสองระบุแต่งตั้งให้ นายนิยม ภูมิพันธ์เป็นทนายความของผู้ร้องทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวา ปรากฏตามท้ายคำร้องว่านายเฉลิมพล สุครีพเป็นผู้เรียงพิมพ์และยื่นคำร้องนี้ แต่นายเฉลิมพลมิใช่ทนายความของผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ไม่รับคำร้อง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏว่าตามคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องทั้งสองลงวันที่ 14 มิถุนายน 2532 มีนายเฉลิมพล สุครีพลงชื่อเป็นผู้ร้องและเป็นผู้เรียงพิมพ์แต่ในใบแต่งทนายความของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ทั้งสองฉบับซึ่งลงวันที่เดียวกันระบุว่าผู้ร้องทั้งสองแต่งตั้งให้นายนิยม ภูมิพันธ์ เป็นทนายความของผู้ร้องที่ 1ที่ 2 ดังนี้ แสดงว่าผู้ร้องทั้งสองมิได้แต่งตั้งให้นายเฉลิมพลสุครีพ เป็นทนายความ นายเฉลิมพล สุครีพ จึงไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใช้สิทธิในการลงชื่อในคำร้องขัดทรัพย์นี้แทนผู้ร้องทั้งสอง คำร้องฉบับดังกล่าวจึงไม่เป็นคำร้องที่จะพึงรับไว้พิจารณา ที่ผู้ร้องทั้งสองฎีกาว่า ในใบแต่งทนายความของผู้ร้องที่ 1ที่ 2 ทั้งสองฉบับดังกล่าวนั้น ทนายความที่ลงลายมือชื่อในคำรับเป็นทนายความคือนายเฉลิมพล สุครีพ ไม่ใช่นายนิยม ภูมิพันธ์นายเฉลิมพล จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อในคำร้องขัดทรัพย์ได้นั้นเห็นว่า ใบแต่งทนายความทั้งสองฉบับดังกล่าวพิมพ์ข้อความระบุว่าผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ขอแต่งให้นายนิยม ภูมิพันธ์ เป็นทนายความของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ในคดีเรื่องนี้ และยังมีข้อความระบุว่าผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ยอมรับผิดชอบตามที่นายนิยม ภูมิพันธ์ ทนายความจะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ด้านหลังของใบแต่งทนายความดังกล่าวแต่ละฉบับซึ่งมีคำรับเป็นทนายความก็พิมพ์ข้อความระบุว่า “ข้าพเจ้า นายนิยม ภูมิพันธ์ ทนายความใบอนุญาตเลขที่ 832/32…..ขอเข้าเป็นทนายความของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามหน้าที่ในกฎหมาย” ดังนี้ย่อมแสดงว่าผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 เจตนาแต่งตั้งให้นายนิยม ภูมิพันธ์เป็นทนายความ มิไ้ดมีเจตนาที่จะแต่งตั้งให้นายเฉลิมพล สุครีพ ซึ่งมีใบอนุญาตทนายความเลขที่ 2058/2529 ตามที่ระบุในใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน 2532 เป็นทนายความของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2แต่ประการใด หากจะฟังว่านายเฉลิมพลได้ลงลายมือชื่อในคำรับเป็นทนายความของผู้ร้องทั้งสองในใบแต่งทนายความทั้งสองฉบับซึ่งลงวันที่ 14 มิถุนายน 2532 ตามที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างจริง ก็ต้องถือว่านายเฉลิมพลลงลายมือชื่อรับเป็นทนายความโดยผู้ร้องทั้งสองมิได้เจตนาแต่งตั้งให้เป็นทนายความของผู้ร้องทั้งสอง เพราะขัดกับข้อความที่ระบุไว้ในใบแต่งทนายความทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องทั้งสองจะอ้างว่านายเฉลิมพลเป็นทนายความของผู้ร้องทั้งสองในขณะยื่นคำร้องขัดทรัพย์ไม่ได้ ที่ผู้ร้องทั้งสองฎีกาว่า เหตุที่พิมพ์ชื่อนายนิยม ภูมิพันธ์ เป็นทนายความของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ลงในใบแต่งทนายความทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นเพียงข้อบกพร่องเล็กน้อยเท่านั้นเห็นว่าเมื่อใบแต่งทนายความทั้งสองฉบับดังกล่าวระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ขอแต่งตั้งให้นายนิยม ภูมิพันธ์ เป็นทนายความแล้ว นายเฉลิมพล สุครีพ ก็ไม่มีสิทธิลงลายมือชื่อในคำรับเป็นทนายความของผู้ร้องทั้งสองหากเป็นกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองมีเจตนาแต่งตั้งให้นายเฉลิมพล สุครีพเป็นทนายความจริงแล้ว นายเฉลิมพลก็น่าจะต้องจัดทำใบแต่งทนายความที่มีข้อความระบุว่าขอแต่งตั้งให้นายเฉลิมพลเป็นทนายความขจองผู้ร้องทั้งสองแล้วจึงลงลายมือชื่อในคำรับเป็นทนายความให้ได้ การที่นายเฉลิมพลลงลายมือชื่อในคำรับเป็นทนายความของผู้ร้องทั้งสองในใบแต่งทนายความทั้งสองฉบับดังกล่าวทั้ง ๆ ที่ในใบแต่งทนายความนั้นมิได้ระบุว่าผู้ร้องทั้งสองขอแต่งตั้งให้นายเฉลิมพลเป็นทนายความนั้นผู้ร้องทั้งสองจะยกเอาความบกพร่องของนายเฉลิมพลมาเป็นข้ออ้างว่าผู้ร้องทั้งสองมิได้แต่งตั้งนายนิยมเป็นทนายความ แต่มีเจตนาแต่งตั้งนายเฉลิมพลเป็นทนายความของผู้ร้องทั้งสองหาได้ไม่ ข้ออ้างของผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ และข้ออ้างดังกล่าวมีแต่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินกระบวนพิจารณาและอาจเกิดความเสียหายแก่คู่ความหรือบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตได้ เพราะไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าใครเป็นทนายความผู้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนผู้ร้องทั้งสองที่แท้จริง นอกจากนี้ยังได้ความว่า นายเฉลิมพลเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย กล่าวคือ เป็นทนายความชั้น 1 ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในกฎหมายวิธีพิจารณาความ จึงต้องใช้ความระมัดระวังและความละเอียดครอบครอบเป็นพิเศษยิ่งกว่าบุคคลที่มิใช่ทนายความ การที่นายเฉลิมพลลงลายมือชื่อในคำรับเป็นทนายความในใบแต่งทนายความทั้งสองฉบับดังกล่าวซึ่งไม่มีข้อความระบุว่าผู้ร้องทั้งสองได้แต่งตั้งให้นายเฉลิมพลเป็นทนายความ เช่นนี้sbนายเฉลิมพลจึงมิใช่ทนายความของผู้ร้องทั้งสองและไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในคำร้องขัดทรัพย์แทนผู้ร้องทั้งสองได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62 อนึ่ง คำร้องขัดทรัพย์มีลักษณะเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1 (3) จึงต้องลงลายมือชื่อของผู้ร้องทั้งสองตามมาตรา 67 (5)หรือลายมือชื่อของทนายความที่ผู้ร้องทั้งสองแต่งตั้งตามมาตรา 62หากคำร้องนั้นไม่ได้ลงลายมือชื่อของผู้ร้องทั้งสองหรือของทนายความผู้มีอำนาจก็ถือว่าคำร้องนั้นไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 67 (5) เท่านั้นศาลต้องสั่งคืนคำร้องนั้นไปให้ผู้ร้องทั้งสองแก้ไขภายในระยะเวลาตามที่เห็นสมควรจะกำหนดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แต่กรณีนี้คำร้องขัดทรัพย์มีผู้ลงลายมือชื่อแต่เป็นลายมือชื่อของนายเฉลิมพลซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีอำนาจดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว จึงมิใช่เป็นกรณีที่คำร้องไม่มีลายมือชื่อของผู้รับตามมาตรา 67 (5) อันจะสั่งให้แก้ไขได้ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้รับทั้งสองและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย…”
พิพากษายืน.