คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9610/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ส่งมอบงบการเงินกับเอกสารทางบัญชีอื่น สำหรับรอง 6 เดือนแรกของปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 ของจำเลยให้ ท. หรือ ช. รองกรรมการผู้จัดการของจำเลยภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2551 และส่งมอบให้ผู้ตรวจสอบบัญชีของ บริษัท ด. ในวันที่ 4, 5, 6 ธันวาคม 2551 โจทก์ทราบคำสั่งแล้วแต่เพิกเฉย อันเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรงและจงใจให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ดังนั้นฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกค่าจ้างที่บริษัท ด. ต้องเข้ามาตรวจสอบบัญชีตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2551 และค่าจ้างที่ปรึกษากฎหมายซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ไม่ส่งมอบเอกสารเกี่ยวกับบัญชีให้แก่ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของจำเลย จึงเป็นฟ้องแย้งในเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2548 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนละ 100,020 บาท วันที่ 7 สิงหาคม 2551 จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 600,120 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 76,000 บาท (23 วัน) ค่าเสียหายจากการทำละเมิดต่อโจทก์ 500,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยประกอบกิจการโรงงานกลึง ไส หล่อเหล็กผลิตลูกรีดเหล็ก ลูกรีดเหล็กหล่อ และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเกี่ยวกับเหล็ก ในรูปแบบต่าง ๆ มีทุนจดทะเบียน 170 ล้านบาท โดยแบ่งผู้ถือหุ้นเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสัญชาติสิงคโปร์ ถือหุ้นรวมกัน 1,190,002 หุ้น เท่ากับร้อยละ 70 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด กลุ่มที่ 2 เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นรวมกัน 509,998 หุ้น เท่ากับร้อย 30 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ทั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงการบริหารจัดการระหว่างนายไท ก๊ก และนายสิริ ซึ่งเป็นบิดาของโจทก์ โจทก์จึงได้เป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลย นายสิริเป็นผู้ชำระค่าหุ้นทั้งหมดของผู้ถือหุ้นกลุ่มที่ 2 และเป็นผู้มีอำนาจสั่งการผู้ถือหุ้นกลุ่มที่ 2 ตลอดทั้งกรรมการที่เป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นกลุ่มที่ 2 และโจทก์ เดิมนายสิริเป็นพนักงานของจำเลยในตำแหน่งประธานบริหาร มีอำนาจสั่งการและควบคุมพนักงานลูกจ้างและบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มบริษัทเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกันได้ โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ มีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำงานของพนักงานฝ่ายบัญชีทั้งหมด นายสิริร่วมกับโจทก์บริหารจัดการกิจการของจำเลยโดยไม่สุจริต ควบคุม ยุยง สั่งการพนักงานฝ่ายบัญชีไม่ให้ดำเนินการลงบัญชีให้ถูกต้อง ห้ามส่งมอบงบการเงิน (ประกอบด้วยงบดุล งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น งบกระแสเงินสดและงบทดลอง) และเอกสารทางบัญชีอื่นทั้งหมดสำหรับรอบ 6 เดือนแรก ของปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 ของจำเลยให้นายไท กรรมการผู้จัดการหรือนายชอง รองกรรมการผู้จัดการของจำเลยภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2551 และไม่ส่งมอบให้บริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของจำเลยในวันที่ 4, 5, 6 สิงหาคม 2551 โดยเจตนาปกปิดข้อมูลทางบัญชีด้วยประสงค์ให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มที่ 1 ยากลำบากในการบริหารจัดการบริษัทจำเลย ขาดความเชื่อมั่นในการร่วมลงทุน เพื่อบีบบังคับให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มที่ 1 ยอมขายหุ้นให้กลุ่มของโจทก์และนายสิริในราคาต่ำแล้วเข้ายึดครอง (TAKE OVER) กิจการของจำเลยวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 จำเลยมีหนังสือเตือนให้โจทก์ส่งงบการเงินและเอกสารแก่ผู้บังคับบัญชาภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2551 จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและจงใจทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากจำเลยและฟ้องแย้งว่า โจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายประกอบด้วยค่าจ้างบริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ซึ่งต้องเข้ามาตรวจสอบบัญชีตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2551 จนเสร็จสิ้น 382,547 บาท และค่าที่ปรึกษากฎหมาย 514,340.50 บาท รวมเป็นเงิน 896,887.50 บาท ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า รับคำให้การของจำเลย สำเนาให้โจทก์ ส่วนฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมจึงไม่รับ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ส่งมอบงบการเงิน ซึ่งประกอบด้วยงบดุล งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น งบกระแสเงินสด และงบทดลอง กับเอกสารทางบัญชีอื่นสำหรับรอบ 6 เดือนแรกของปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 ของจำเลยให้นายไท กรรมการผู้จัดการ หรือนายชอง รองกรรมการผู้จัดการของจำเลยภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2551 และส่งมอบให้ผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทดีลอยท์ ทุ้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ในวันที่ 4, 5, 6 ธันวาคม 2551 โจทก์ทราบคำสั่งแล้วแต่เพิกเฉย อันเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรงและจงใจทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ดังนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกค่าจ้างบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ซึ่งต้องเข้ามาตรวจสอบบัญชีตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2551 และค่าจ้างที่ปรึกษากฎหมายซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ไม่ส่งมอบเอกสารเกี่ยวกับบัญชีให้แก่ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของจำเลย จึงเป็นฟ้องแย้งในเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป

Share