คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9609/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บ. ทนายจำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ว่าความตามใบแต่งทนายความ แต่ไม่ได้รับอำนาจจากจำเลยที่ 2 ให้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ทนายจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ จึงเป็นการอุทธรณ์โดยไม่ได้รับอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง ทนายจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 2 คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ทนายจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์เป็นการลงลายมือชื่อโดยไม่มีอำนาจ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 แต่การที่จะให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำฟ้องอุทธณณ์ หรือมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาคดีเสร็จแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาคดีในส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 2 และยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของโจทก์และแก้ไขคำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 1 ยังคงมีผลชอบด้วยกฎหมายต่อไป กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป ให้ยกฎีกาของโจทก์เสียด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92 ริบของกลาง ยกเว้นธนบัตรจำนวน 120,000 บาท ที่ใช่ล่อซื้อให้คืนแก่เจ้าของเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 และนับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 678/2537 ของศาลจังหวัดยะลา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (เดิม) (ที่ถูก ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุกคนละ 30 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 10 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 15 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 40 ปี ริบของกลาง เว้นแต่ธนบัตรจำนวน 120,000 บาท ที่ใช้ล่อซื้อและรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อคาวาซากิ หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 6ช – 1338 ตามบัญชีของกลางคดีอาญาอันดับที่ 6 เอกสารหมาย จ.7 ให้คืนแก่เจ้าของและให้นับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 678/2537 ของศาลจังหวัดยะลา
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีเมทแอมเฟตามีน จำนวน 3,366 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 เม็ด จำคุก 15 ปี รวมจำคุก 25 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 กึ่งหนึ่ง รวมเป็นจำคุก 37 ปี 6 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 18 ปี 9 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 เม็ด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 15 ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1,366 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายบัณฑิต ทนายจำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ว่าความตามใบแต่งทนายความลงวันที่ 19 ตุลาคม 2544 ไม่ได้รับอำนาจจากจำเลยที่ 2 ให้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ด้วย และกรณีล่วงเลยเวลาที่จะย้อนสำนวนกลับไปแก้ไขอย่างใดได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ทนายจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ จึงเป็นการอุทธรณ์โดยไม่ได้รับอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง ทนายจำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 2 คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ทนายจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์เป็นการลงลายมือชื่อโดยไม่มีอำนาจ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 แต่การที่จะให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ หรือมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้ เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้พิจารณาคดีนี้เสร็จไปแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาคดีในส่วนของอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มา เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 2 และยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของโจทก์และแก้ไขคำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 1 ยังคงมีผลโดยชอบด้วยกฎหมายต่อไป กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไปอีก จึงให้ยกฎีกาของโจทก์เสียด้วยและเมื่อศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในส่วนของจำเลยที่ 2 แล้ว คดีของจำเลยที่ 2 จึงต้องบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์ในส่วนนี้…
พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 15 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว รวมจำคุก 25 ปี ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 2 และยกฎีกาของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share